ใจสั่งมา

ผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในคนที่ควรให้ ฯลฯ

อเทยฺเยสุ ททํ ทานํ     เทยฺเยสุ นปฺปเวจฺฉติ
อาปาสุ พฺยสนํ ปตฺโต     สหายํ นาธิคจฺฉติ.

[คำอ่าน]

อะ-ไท-เย-สุ, ทะ-ทัง, ทา-นัง…..ไท-เย-สุ, นับ-ปะ-เวด-ฉะ-ติ
อา-ปา-สุ, พะ-ยะ-สะ-นัง, ปัด-โต…..สะ-หา-ยัง, นา-ทิ-คัด-ฉะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงความเสื่อมเพราะอันตราย ย่อมไม่ได้สหาย.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.จตุกฺก. 27/129.

การให้ทานนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญกุศล เป็นสิ่งที่ควรทำ และการให้ทานยังเป็นบุญกิริยาวัตถุข้อแรกในพุทธศาสนาอีกด้วย

แต่การให้ทานนั้น จำเป็นต้องพิจารณาก่อนจึงให้ การให้นั้นจึงจะอำนวยประโยชน์สูงสุด เช่น การให้แก่บุคคลผู้มีศีล ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการให้แก่บุคคลผู้ไม่มีศีล เป็นต้น

ในสุภาษิตบทนี้ ท่านกล่าวถึงหลักของการให้ทาน ว่าควรพิจารณาให้ดีว่าใครควรให้ใครไม่ควรให้ ให้แก่ใครจึงเกิดประโยชน์ ให้แก่ใครจึงไม่มีภัย เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนด้วยดีแล้วจึงให้

ตัวอย่างของบุคคลที่ไม่ควรให้ เช่น คนทุศีล คนพาล คนอกตัญญู คนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เป็นต้น ส่วนคนที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ถือเป็นบุคคลที่ควรให้

บุคคลผู้ให้ทานโดยขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากการให้ทานนั้น มิหนำซ้ำยังอาจจะได้รับโทษจากการให้นั้นด้วย เช่น ให้แก่คนอันธพาล ให้แก่คนไม่มีศีลธรรม ให้แก่คนอกตัญญู เป็นต้น

การให้ทานในคนชั่วทั้งหลายมีคนอันธพาลเป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้แก่บุคคลผู้อกตัญญู ไม่รู้บุญคุณคน การให้ทานแก่บุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นการให้ที่สูญเปล่า เมื่อถึงคราวที่ผู้ให้ต้องประสบภัยหรือปัญหาใด ๆ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

บุคคลผู้ให้ในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในบุคคลที่ควรให้ เมื่อถึงคราวประสบภัย ย่อมไร้สหายคอยช่วยเหลือ ด้วยประการฉะนี้.