ใจสั่งมา

ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ย่อมให้ในคนที่ควรให้ ฯลฯ

อเทยฺเยสุ อททํ ทานํ     เทยฺเยสุ โย ปเวจฺฉติ
อาปาสุ พฺยสนํ ปตฺโต     สหายํ อธิคจฺฉติ.

[คำอ่าน]

อะ-ไท-เย-สุ, อะ-ทะ-ทัง, ทา-นัง….ไท-เย-สุ, โย, ปะ-เวด-ฉะ-ติ
อา-ปา-สุ, พะ-ยะ-สะ-นัง, ปัด-โต….สะ-หา-ยัง, อะ-ทิ-คัด-ฉะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ย่อมให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นประสบความเสื่อมเพราะอันตราย ย่อมได้สหาย.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.จตุกฺก. 27/129.

การให้ทานนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญกุศล เป็นสิ่งที่ควรทำ และการให้ทานยังเป็นบุญกิริยาวัตถุข้อแรกในพุทธศาสนาอีกด้วย

แต่การให้ทานนั้น จำเป็นต้องพิจารณาก่อนจึงให้ การให้นั้นจึงจะอำนวยประโยชน์สูงสุด เช่น การให้แก่บุคคลผู้มีศีล ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการให้แก่บุคคลผู้ไม่มีศีล เป็นต้น

ในสุภาษิตบทนี้ ท่านกล่าวถึงหลักของการให้ทาน ว่าควรพิจารณาให้ดีว่าใครควรให้ใครไม่ควรให้ ให้แก่ใครจึงเกิดประโยชน์ ให้แก่ใครจึงไม่มีภัย เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนด้วยดีแล้วจึงให้

ตัวอย่างของบุคคลที่ไม่ควรให้ เช่น คนทุศีล คนพาล คนอกตัญญู คนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เป็นต้น ส่วนคนที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ถือเป็นบุคคลที่ควรให้

ผู้ที่พิจารณาด้วยดีแล้วจึงให้แก่บุคคลที่ควรให้ ย่อมได้รับประโยชน์จากการให้นั้นอย่างเต็มที่ เมื่อถึงคราวมีภัย ประสบอุปสรรคหรือประสบปัญหาต่าง ๆ ย่อมมีคนคอยช่วยเหลือให้ผ่านพ้นภัยและอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ด้วยดี.