ใจสั่งมา

ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ ฯลฯ

มนาปทายี ลภเต มนาปํ
อคฺคสฺส ทาตา ลภเต ปุนคฺคํ
วรสฺส ทาตา วรลาภี จ โหติ
เสฏฺฐสฺส เสฏฺฐมุเปติ ฐานํ.

[คำอ่าน]

มะ-นา-ปะ-ทา-ยี, ละ-พะ-เต, มะ-นา-ปัง
อัก-คัด-สะ, ทา-ตา, ละ-พะ-เต, ปุ-นัก-คัง
วะ-รัด-สะ, ทา-ตา, วะ-ระ-ลา-พี, จะ, โห-ติ
เสด-ถัด-สะ, เสด-ถะ-มุ-เป-ติ, ถา-นัง

[คำแปล]

“ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดี ย่อมได้ของดี ผู้ให้ของประเสริฐ ย่อมถึงฐานะอันประเสริฐ.”

(พุทฺธ) องฺ.ปญฺจก. 22/56.

การให้ทานคือการเสียสละบริจาคสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นโดยมุ่งหวังบุญกุศลอย่างหนึ่ง โดยมุ่งหวังสงเคราะห์เขาอย่างหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะให้โดยมุ่งหวังสิ่งใด การให้นั้นย่อมมีอานิสงส์เสมอ

อานิสงส์ของการให้นั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ถ้าผู้รับเป็นผู้มีศีลดีมีคุณธรรมสูง อานิสงส์ที่เกิดจากการให้แก่ผู้รับเช่นนั้นก็ย่อมสูงไปด้วย

ปัจจัยที่จะทำให้การให้มีอานิสงส์มากอีกอย่างหนึ่งก็คือวัตถุที่ให้ ถ้าของที่ให้นั้นเป็นของที่ดีมีราคา เป็นของที่น่าชอบใจ มีประโยชน์แก่ผู้รับ อานิสงส์ที่เกิดจากการให้นั้นก็ย่อมมีมาก แต่ถ้าตรงกันข้าม อานิสงส์ก็น้อย

ดังนั้น เมื่อมีจิตคิดจะให้ก็พึงพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนั้นด้วย หากจะให้เพื่อการสงเคราะห์ ก็พึงให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ คือผู้รับสามารถนำสิ่งของนั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ นำไปแก้ปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ได้ หรือใช้เพื่อความเจริญงอกงามในชีวิตของเขาได้ เป็นต้น

หากคิดจะให้เพื่อเป็นการบำเพ็ญทานบารมี ก็พึงให้สิ่งของที่ดี มีคุณภาพ มีประโยชน์ เหมาะแก่สถานะของผู้รับ สามารถใช้ได้จริง เป็นต้น พึงทำตัวเป็นสหายแห่งทาน คือตนเองบริโภคใช้สอยอย่างไรก็ให้ของเช่นนั้น หรือทำตัวเป็นเจ้าแห่งทาน คือให้ของที่ดีเลิศกว่าสิ่งที่ตนบริโภคใช้สอย แต่อย่าทำตัวเป็นทาสแห่งทาน คือให้ของที่แย่มีคุณภาพต่ำกว่าสิ่งที่ตนเองบริโภคใช้สอย.