ใจสั่งมา

ผู้ใดสอนธรรมแก่คนปฏิบัติไม่ถูก ถ้าเขาทำตามคำของผู้นั้น จะไม่ไปสู่ทุคติ

อธมฺมํ ปฏิปนฺนสฺส     โย ธมฺมมนุสาสติ
ตสฺส เจ วจนํ กยิรา     น โส คจฺเฉยฺย ทุคฺคตึ.

[คำอ่าน]

อะ-ทำ-มัง, ปะ-ติ-ปัน-นัด-สะ…..โย, ทำ-มะ-มะ-นุ-สา-สะ-ติ
ตัด-สะ, เจ, วะ-จะ-นัง, กะ-ยิ-รา..…นะ, โส, คัด-ไฉ-ยะ, ทุก-คะ-ตึง

[คำแปล]

“ผู้ใดสอนธรรมแก่คนปฏิบัติไม่ถูก ถ้าเขาทำตามคำของผู้นั้น จะไม่ไปสู่ทุคติ.”

(พุทฺธ) ขุ.ชา.สฏฺฐี. 28/39.

คำว่า “ปฏิบัติไม่ถูก” หมายถึง การปฏิบัติผิดทำนองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดจากหลักอริยมรรคมีองค์แปด

สิ่งที่ทำให้คนปฏิบัติไม่ถูกก็ได้แก่มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด เพราะเมื่อบุคคลมีความเห็นผิดเสียแล้ว ความคิด การกระทำ และคำพูด ย่อมเป็นอันผิดไปด้วย

การปฏิบัติไม่ถูกตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดนั้น จะนำพาบุคคลผู้ปฏิบัติไม่ถูกนั้นเข้าถึงความเสื่อมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เข้าถึงทุคติอบายภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ยากลำบากทั้งหลาย

การที่บุคคลจะปฏิบัติถูกได้นั้น จำเป็นจะต้องเข้าหาบุคคลผู้สอนธรรมที่มีความรู้แตกฉานในข้ออรรถข้อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ หรือท่านผู้รู้ทั้งหลายที่ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแตกฉาน ขอคำแนะนำจากท่าน ศึกษาธรรมะจากท่าน แล้วนำมาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของตนเอง

ผู้ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำพร่ำสอนของผู้สอนธรรมด้วยดี ย่อมจะไม่ประสบกับความเสื่อมในโลกนี้ ไม่ไปสู่ทุคติในโลกหน้า แต่กลับกัน เขาจะประสบกับความสุขความเจริญในโลกนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในสัมปรายภพ เพราะเหตุที่ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมนั้น.