ใจสั่งมา

ผู้มีปัญญาทราม มีจิตใจกระด้าง ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า ฯลฯ

อุปารมฺภจิตฺโต ทุมฺเมโธ     สุณาติ ชินสาสนํ
อารกา โหติ สทฺธมฺมา     นภโส ปฐวี ยถา.

[คำอ่าน]

อุ-ปา-รำ-พะ-จิด-โต, ทุม-เม-โท…..สุ-นา-ติ, ชิ-นะ-สา-สะ-นัง
อา-ระ-กา, โห-ติ, สัด-ทำ-มา…..…นะ-พะ-โส, ปะ-ถะ-วี, ยะ-ถา

[คำแปล]

“ผู้มีปัญญาทราม มีจิตใจกระด้าง ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า ก็ยังห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนดินกับฟ้า.”

(ยสทตฺตเถร) ขุ.เถร. 26/323.

คำว่า “ผู้มีปัญญาทราม” หมายถึง คนโง่ คนปัญญาทึบ ไม่เฉลียวฉลาด ขาดการพิจารณา ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ จดจำ หรือทำความเข้าใจเรื่องใด ๆ ได้ง่าย ๆ เปรียบเหมือนบัวใต้ตมที่มีโอกาสตกเป็นอาหารของปลาและเต่าได้ง่าย ๆ ส่วนโอกาสที่จะโผล่พ้นน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ยากนัก

คำว่า “มีจิตใจกระด้าง” หมายถึง เป็นคนดื้อดึง หัวรั้น ไม่เชื่อฟัง ไม่มีสัมมาคารวะ คนประเภทนี้เป็นคนบอกยากสอนยาก ไม่สามารถฝึกหรือสอนให้เป็นคนอ่อนโยนได้ง่าย ๆ

ธรรมดาคนโง่นั้น ถึงแม้จะเรียนรู้เรื่องใด ๆ ให้เข้าใจได้ยากอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่ดื้อรั้น เชื่อฟัง สอนบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ ก็พอที่จะเข้าใจได้ เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า ถึงแม้จะเข้าใจยากอยู่บ้าง แต่ถ้าฟังบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็ยังจะสามารถทำความเข้าใจได้ในที่สุด

แต่คนโง่ที่มีจิตใจกระด้าง คือทั้งโง่ทั้งดื้อรั้น ถึงแม้จะได้ยินได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ ก็ย่อมไม่เข้าใจถ่องแท้ หรือถึงแม้จะเข้าใจอยู่บ้าง เขาก็ไม่เชื่อไม่น้อมนำไปปฏิบัติอยู่ดี เพราะความเป็นคนจิตใจกระด้างนั้นเอง ดังนั้น คนประเภทนี้จึงห่างไกลจากพระสัทธรรม ราวฟ้ากับดิน.