ใจสั่งมา

กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนงานชั้นต่ำ ฯลฯ

ขตฺติยา พฺราหฺมณา เวสฺสา     สุทฺทา จณฺฑาลปุกฺกุสา
อิธ ธมฺมํ จริตฺวาน     ภวนฺติ ติทิเว สมา.

[คำอ่าน]

ขัด-ติ-ยา, พราม-มะ-นา, เวด-สา….สุด-ทา, จัน-ทา-ละ-ปุก-กุ-สา
อิ-ทะ, ทำ-มัง, จะ-ริด-ตะ-วา-นะ….พะ-วัน-ติ, ติ-ทิ-เว, สะ-มา

[คำแปล]

“กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนงานชั้นต่ำ ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในสวรรค์ชั้นไตรทิพย์.”

ขุ.ชา.ปญฺจก. 27/175.

ในประเทศอินเดียสมัยก่อน มีการแบ่งชั้นวรรณะของคนออกเป็น 4 วรรณะ ตามหลักศาสนาพราหมณ์ คือ

  1. กษัตริย์ ชนชั้นเจ้า, ชนชั้นปกครองหรือนักรบ
  2. พราหมณ์ ชนชั้นเจ้าตำราเจ้าพิธี, พวกพราหมณ์
  3. แพศย์ ชนชั้นพ่อค้าและกสิกร
  4. ศูทร ชนชั้นต่ำ, พวกทาสกรรมกร

โดยกษัตริย์เป็นชนชั้นสูงสุด และศูทร เป็นชนชั้นต่ำสุด และมีการเหยียดชนชั้นกันอย่างชัดเจน พวกศูทรและจัณฑาลจะถูกรังเกียจกีดกันจากชนชั้นอื่นๆ เพราะถูกจัดเป็นชนชั้นต่ำ

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขั้นในโลกและตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ประกาศพระพุทธศาสนา และทรงเปลี่ยนความคิดของคนในสมัยนั้นว่าทุกคนมีความเสมอกันในเรื่องของกรรมและผลแห่งกรรม

บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด เมื่อทำกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีเท่ากัน และเมื่อทำกรรมชั่ว ก็ย่อมได้รับผลของกรรมชั่วเท่ากัน คนทุกชนชั้นไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องกฎแห่งกรรม

ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล เมื่อทำกรรมชั่ว ย่อมมีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเช่นกัน และเมื่อทำกรรมดี ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเช่นเดียวกัน

การแบ่งแยกชนชั้น เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายอุปโลกน์ขึ้นเองสมมติขึ้นเองตามอำนาจของความถือตัวถือตนทั้งสิ้น แต่เมื่อว่าตามกฎแห่งกรรมแล้ว ทุกคนเสมอกัน ไม่มีใครสูงส่ง ไม่มีใครต่ำต้อย เพราะกรรมที่ทุกคนได้กระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลอย่างเท่าเทียม

กษัตริย์ก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม แพศย์ก็ตาม ศูทรก็ตาม จัณฑาลก็ตาม หรือคนชั้นต่ำทั้งหลายก็ตาม ถ้าทำกรรมชั่ว ก็มีสิทธิ์ตกนรกเท่ากัน ถ้าทำกรรมดี ก็มีสิทธิ์ขึ้นสวรรค์เท่ากัน และถ้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็มีสิทธิ์เข้าถึงพระนิพพานเท่ากัน ไม่มีแบ่งแยกชนชั้น.