สมาธิภาวนา 4 ประการ

สมาธิภาวนา คือ การเจริญสมาธิ การฝึกสมาธิแบบต่าง ๆ จำแนกตามวัตถุประสงค์ เป็น 4 ประการ คือ

1. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร

สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร เป็นการเจริญสมาธิเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน มีลักษณะดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่

เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่

อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่

เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่

ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม

2. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ

สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ มีลักษณะดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดังนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ กระทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่ากลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น

เธอมีจิตอันเปิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่างทั่วพร้อม ให้เจริญอยู่

ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ

3. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ

สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ มีลักษณะดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดังนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้

เวทนา เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

สัญญา เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

วิตก เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

4. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่ออาสวักขยะคือความสิ้นอาสวะ

สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่ออาสวักขยะคือความสิ้นอาสวะ มีลักษณะดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดังนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ มีปกติตามเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ทั้งห้าว่า

รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ