
นิราสตฺตี อนาคเต………อตีตํ นานุโสจติ
วิเวกทสฺสี ผสฺเสสุ…..ทิฏฺฐีสุ จ น นิยฺยติ.
[คำอ่าน]
นิ-รา-สัด-ตี, อะ-นา-คะ-.เต….อะ-ตี-นัง, นา-นุ-โส-จะ-ติ
วิ-เว-กะ-ทัด-สี, ผัด-เส-สุ…..ทิด-ถี-สุ, จะ, นะ, นิย-ยะ-ติ
[คำแปล]
“ผู้ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นความสงัดในผัสสะทั้งหลาย ย่อมไม่ถูกชักนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย.”
(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/500, ขุ.มหา. 29/264,267.
อดีต คือช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่ล่วงมาแล้ว อนาคต คือช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึง หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
การนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ดีบ้างไม่ดีบ้าง ย่อมทำให้จิตใจหวั่นไหว ถ้านึกถึงเรื่องที่ดีที่เคยเกิดขึ้น ก็รู้สึกมีความสุข ยินดีในเรื่องนั้น ๆ นึกถึงทีไรก็สุขใจทุกที ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นมันจบไปแล้ว เช่นนี้จิตใจก็กระเพื่อม หลงยึดติดในอดีตที่จบไปแล้ว
หรือการนึกถึงเรื่องแย่ ๆ ในอดีต ที่ทำให้ให้จิตใจเศร้าหมอง นึกถึงทีไรก็เป็นทุกข์ โศกเศร้าเสียใจทุกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นก็จบไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ เช่นนี้ก็ทำให้จิตใจกระเพื่อมหวั่นไหว เพราะไปหลงยึดติดกับอดีตที่จบไปแล้วเช่นกัน
ส่วนการนึกถึงอนาคต นึกถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ทำให้จิตใจกระเพื่อมได้เช่นเดียวกัน เช่น นึกถึงเรื่องในวันพรุ่งนี้ กังวลว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องยังไม่เกิด แต่เป็นทุกข์ไปก่อนแล้ว หรือที่เรียกว่า ตีตนไปก่อนไข้
หรือการวาดฝันว่าอนาคตจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปีหน้าจะประสบความสำเร็จ จะมีเงินเหลือใช้ จะมีรถ จะมีบ้าน วาดฝันไว้ล่วงหน้า พอถึงเวลาไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก
การยึดติดในอดีตและการกังวลถึงอนาคต ทำให้จิตใจกระเพื่อมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้สาวกทั้งหลายอยู่กับปัจจุบัน คือไม่ว่าจะทำอะไรให้โฟกัสที่ปัจจุบัน ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ให้จิตใจวอกแวกคิดไปถึงอดีตบ้างอนาคตบ้าง เพราะความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ การบรรลุมรรคผลนิพพาน สามารถบรรลุได้ที่ปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต
อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นความสงัดในผัสสะทั้งหลาย คือไม่ให้ยินดียินร้ายในผัสสะที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้วางใจเป็นกลางในผัสสะเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด อันจะเป็นสาเหตุให้หลงผิด เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ไม่เห็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง และเป็นตัวขัดขวางการบรรลุธรรม.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา