อย่าเหลิงเมื่อถูกชื่นชม อย่าขื่นขมเมื่อถูกตำหนิ

คำพูดของคนอื่นที่จะพูดถึงเรานั้น ก็มีอยู่เพียงสองอย่าง คือ ถ้าไม่กล่าวชื่นชมก็กล่าวตำหนิ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้หรอก

แต่ไม่ว่าจะเป็นคำชื่นชมหรือคำตำหนิก็ตาม มันก็เป็นคำพูดเป็นวจีกรรมของบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น เราก็ไม่ควรที่จะไปหวั่นไหวกับคำพูดเหล่านั้น คือ เขาชมก็อย่าหลงระเริงดีใจไป เขาตำหนิก็อย่าเคืองขุ่นโกรธแค้นไป เพราะมันไม่มีประโยชน์

แล้วเราต้องทำตัวอย่างไร?

หลักปฏิบัติเมื่อถูกตำหนิ

เรื่องนี้มีตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าถูกสุปปิยปริพาชกกล่าวตำหนิต่าง ๆ นานา และในขณะเดียวกัน พรหมทัตตมาณพผู้เป็นลูกศิษย์ของสุปปิยปริพาชก กลับกล่าวชื่นชมพระพุทธเจ้าเป็นอเนกประการ เรียกว่าอาจารย์กับลูกศิษย์มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

ตอนนั้นเหล่าภิกษุสาวกก็เอาเรื่องนี้มาคุยกัน และเรื่องก็ทราบถึงพระกัณณ์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสกับเหล่าภิกษุสาวกในประเด็นที่ถูกสุปปิยปริพาชกกล่าวตำหนิว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม หรือติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรทำความอาฆาต โทมนัส แค้นใจในคนเหล่านั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักน้อยใจในคนเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น อันตรายพึงมีแก่เธอทั้งหลายนี่แหละ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม หรือติพระสงฆ์ ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักน้อยใจในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลายพึงรู้คำที่เป็นสุภาษิต ของคนเหล่าอื่นได้ละหรือ”

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1

ในข้อความข้างต้นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงการที่คนอื่นกล่าวติพระพุทธเจ้า กล่าวติพระธรรม และกล่าวติพระสงฆ์ คนอื่นเขาจะตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างไร สาวกอย่างเรา ๆ ก็ไม่ควรโกรธ ไม่ควรผูกอาฆาต และไม่ควรเสียใจ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น อันตรายก็จะมีแก่ตัวเราเองนี่แหละ ซึ่งคำว่า “อันตราย” ก็คงจะหมายถึงอันตรายคือกิเลสที่ครอบงำจิตใจของผู้ที่โกรธ ผูกอาฆาต เป็นต้นนั่นเอง ความโกรธ ความอาฆาตเหล่านั้น ก็จะเป็นตัวการให้หลงไปกระทำกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ซึ่งมีผลเป็นบาปคือเป็นอันตรายแก่ตนเองทั้งสิ้น และถ้ามัวแต่โกรธ มัวแต่ผูกอาฆาตเขาอยู่อย่างนั้น ก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า ตัดโอกาสในการที่จะได้เรียนรู้คำสุภาษิตของคนอื่น ๆ ตัดโอกาสที่จะได้ทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ไปเสีย

หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อมีผู้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม หรือติพระสงฆ์ ก็ตาม ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่า นั่นไม่จริงแม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้แม้เพราะเหตุนี้ แม้ข้อนั้นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย และในเราทั้งหลายก็ไม่มีข้อนั้น.”

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1

คือเมื่อมีคนกล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ แทนที่เราจะไปโกรธเคืองอาฆาตแค้น ก็ให้แก้ไขเสียให้ถูกต้อง คือให้อธิบายให้เขาเข้าใจแจ่มชัดว่าสิ่งที่เขาตำหนินั้นไม่เป็นความจริง เพราะอะไร ยกเหตุผลยกข้อเท็จจริงมาอธิบายให้เข้าใจแจ้งชัด เช่นนี้จึงจะเป็นประโยชน์

หลักปฏิบัติเมื่อถูกชม

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปในประเด็นที่ถูกพรหมทัตตมาณพกล่าวชื่นชมว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ดีใจ เบิกบานใจในคำชมนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายจักเพลิดเพลิน ดีใจ เบิกบานใจในคำชมนั้น ด้วยเหตุนั้น อันตรายพึงมีแก่เธอทั้งหลายนี่แหละ.”

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1

คือเมื่อคนอื่นเขากล่าวชื่นชมพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สาวกอย่างเราท่านทั้งหลายก็อย่าหลงดีใจจนออกนอกหน้า อย่าหลงระเริงในคำชมเหล่านั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็อันตรายพอ ๆ กันกับการไปผูกโกรธอาฆาตเมื่อเขาตำหนินั่นแหละ

แล้วต้องทำตัวอย่างไร?

พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำวิธีปฏิบัติตัวไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ก็ตาม ในคำที่เขากล่าวชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั่นจริงแม้เพราะเหตุนี้ แม้ข้อนั้นก็มีในเราทั้งหลาย และในเราทั้งหลายก็มีข้อนั้น.”

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1

คือเมื่อคนอื่นเขากล่าวชื่นชมพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ก็ไม่ต้องไปหลงดีใจจนเกินเหตุ แต่ให้ยืนยันไปว่านั่นเป็นความจริง และเป็นความจริงเพราะอะไร ให้ยกเหตุผลมาชี้แจงให้แจ้งชัด แค่นั้นก็พอ ไม่ต้องไปปลื้มปริ่มจนเสียอาการ

นั่นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำในกรณีที่มีผู้กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และกรณีที่มีคนกล่าวชื่นชมพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

แต่ถ้าเราจะนำพระดำรัสของพระพุทธเจ้าในกรณีทั้งสองนั้นมาปรับใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน คือ

เมื่อถูกคนอื่นตำหนิ ก็อย่าไปขุ่นแค้นเคืองโกรธเขา ถ้าเป็นเรื่องจริงก็เก็บคำตำหนินั้นไว้ปรับปรุงตัวเอง ถ้าไม่จริงก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่านั่นไม่เป็นความจริง ส่วนจะเข้าใจหรือไม่ นั่นมันก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อมีคนกล่าวชื่นชมสรรเสริญเยินยอ ก็อย่าไปหลงระเริงกับคำชื่นชมเหล่านั้น ถ้ามันเป็นความจริงก็ยืนยันไปว่าเป็นความจริงดังนั้น แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจว่านั่นไม่เป็นความจริง ชมกันเกินไปแล้ว อะไรประมาณนั้น อย่าให้เขาต้องเข้าใจผิด.