อภิณหปัจจเวกขณ์ 5 ประการ

อภิณหปัจจเวกขณ์ แปลว่า ข้อที่ควรพิจารณาอยู่เนือง ๆ เป็นหลักธรรมที่เตือนสติให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท มี 5 ประการ คือ

1. ชราธัมมตา

ชราธัมมตา ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

การพิจารณาถึงความแก่เนือง ๆ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย ไม่ให้ประมาทในการละชั่วทำดี เห็นความแก่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องประสบอย่างแน่นอน แล้วเร่งสร้างคุณงามความดีตั้งแต่เมื่อยังไม่แก่

2. พยาธิธัมมตา

พยาธิธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้

การพิจารณาถึงความเจ็บป่วยเนือง ๆ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ประมาทในการดูแลสุขภาพให้เข้มแข็งห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ อีกทั้งไม่ประมาทในการสร้างคุณงามความดี เผื่อว่าวันใดที่ต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จนไม่สามารถสร้างคุณงามความดีได้ จะได้ไม่ต้องเสียใจว่า ทำความดียังไม่พอ แต่ต้องมาเป็นโรคเป็นภัยเสียก่อน

3. มรณธัมมตา

มรณธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

การพิจารณาถึงความตายเนือง ๆ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต เห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะต้องประสบพบเจอ จะได้ไม่ต้องโศกเศร้าเสียใจในเมื่อบุคคลผู้เป็นที่รักถึงแก่ความตาย และไม่ประมาทในการดำรงชีวิต เร่งสร้างคุณงามความดีไว้ให้มากก่อนที่ความตายจะมาพรากชีวิตไป

4. ปิยวินาภาวตา

ปิยวินาภาวตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

การพิจารณาถึงความพลัดพรากเนือง ๆ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในคนรักหรือของรักทั้งปวง มองเห็นความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต จะได้ไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจในเมื่อต้องสูญเสียของรักหรือบุคคลผู้เป็นที่รักไป

5. กัมมัสสกตา

กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น

การพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนเนือง ๆ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ เมื่อมาพิจารณาเห็นว่า สัตว์โลกทุกตัวตนล้วนมีกรรมเป็นของตน ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน จะเป็นเหตุให้ไม่ประมาทในการละชั่วทำดีได้