อนันตริยกรรม 5 ประการ

อนันตริยกรรม แปลว่า กรรมอันหาระหว่างมิได้ หมายถึง กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลรุนแรงต่อเนื่องไป โดยไม่มีกรรมอื่นจะมากั้นหรือคั่นได้ เป็นกรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นมาให้ผลก่อน โดยความหมายได้แก่กรรมที่จะให้ผลก่อนกรรมอื่นนั่นเอง มี 5 ประการ คือ

1. มาตุฆาต

มาตุฆาต การฆ่ามารดา มารดาในที่นี้หมายเอามารดาผู้ให้กำเนิด มารดาถือเป็นผู้มีบุญคุณมาก เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ให้ชีวิต และเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ จึงเป็นผู้มีบุญคุณมากมายมหาศาล การฆ่ามารดาของตนเอง จึงชื่อว่าเป็นอนันตริยกรรม

2. ปิตุฆาต

ปิตุฆาต การฆ่าบิดา บิดาในที่นี้หมายเอาบิดาผู้ให้กำเนิด บิดาเป็นผู้มีบุญคุณยิ่งใหญ่ต่อบุตร เช่นเดียวกันกับมารดา เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิต เลี้ยงดูทะนุถนอมบุตรจนเติบใหญ่ เป็นผู้มีบุญคุณมหาศาล ยากที่จะทำคุณตอบแทนได้หมด การฆ่าบิดา จึงชื่อว่าเป็นอนันตริยกรรม

3. อรหันตฆาต

อรหันตฆาต การฆ่าพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นผู้ปฏิบัติตามธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง พระอรหันต์ จึงเป็นผู้ยิ่งโดยคุณและยิ่งโดยบารมี การฆ่าพระอรหันต์ จึงจัดเป็นอนันตริยกรรมอีกข้อหนึ่ง

4. โลหิตุปบาท

โลหิตุปบาท การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงขั้นทำให้พระโลหิตห้อขึ้นไป พระพุทธเจ้า เป็นผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าผู้ใดในไตรโลก ทรงเปี่ยมไปด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ มีบารมีอันได้บำเพ็ญมาแล้วหลายอสงไขยจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นผู้แผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้สาธุชนทั้งหลายได้ปฏิบัติตามและรู้ตาม การทำร้ายพระพุทธเจ้าจึงเป็นกรรมหนัก แม้เพียงแค่ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยคือพระโลหิตห้อ ก็จัดเป็นอนันตริยกรรมแล้ว

5. สังฆเภท

สังฆเภท การทำสงฆ์ให้แตกกัน สงฆ์ คือ พระภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปที่อยู่ร่วมสีมาเดียวกัน ทำสังฆกรรมร่วมกัน การทำสงฆ์ดังกล่าวให้แตกสามัคคีกัน แยกเป็น 2 ฝ่ายหรือหลายฝ่ายกว่านั้น จนถึงขั้นแยกกันทำสังฆกรรม จัดว่าเป็นสังฆเภท สังฆเภทนี้ก็จัดเป็นอนันตริยกรรมอีกอย่างหนึ่ง

ตามหลักพุทธศาสนา ท่านจัดลำดับการให้ผลของกรรมไว้ดังนี้

  • ถ้าผู้ใดทำครุกรรมคือกรรมหนักเอาไว้ ครุกรรมนั้นจะให้ผลก่อนเป็นลำดับแรก
  • ถ้าไม่ได้ทำครุกรรม พหุลกรรม คือกรรมที่ทำจนเคยชิน จะให้ผล
  • ถ้าไม่มีพหุลกรรม อาสันนกรรม คือกรรมที่ทำในขณะจวนเจียนจะสิ้นลม คือกรรมที่ทำในเวลาใกล้ตาย จะให้ผล
  • ถ้าไม่มีกรรมทั้ง 3 ประการข้างต้น กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ คือกรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อนจะให้ผล

ถ้าผู้ใดไปทำอนันตริยกรรม 5 ข้อนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง อนันตริยกรรมนั้นแหละจะให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด ไม่มีกรรมใดจะมาให้ผลแซกแซงได้ ต่อเมื่อรับผลของอนันตริยกรรมหมดสิ้นแล้ว กรรมอื่นจึงจะมีโอกาสให้ผล

โทษของอนันตริยกรรมคือ

  1. ห้ามสวรรค์ หมายถึง ตราบใดที่รับผลของอนันตริยกรรมยังไม่หมด ถึงแม้จะมีกุศลกรรมอย่างอื่นที่มีอานิสงส์แรงสามารถทำให้ไปเกิดบนสวรรค์ได้ อนันตริยกรรมตัวนี้ก็จะขวางไม่ให้ไปเกิดบนสวรรค์ได้
  2. ห้ามนิพพาน หมายถึง ถ้าหากชดใช้ผลของอนันตริยกรรมยังไม่หมด ไม่ว่าจะทำความเพียรขนาดไหน ก็จะไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้