สุขของคฤหัสถ์ 4 ประการ

สุขของคฤหัสถ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข หมายถึง ความสุขของชาวบ้าน ความสุขระดับชาวบ้าน ความสุขระดับของผู้ครองเรือน เป็นความสุขที่อยู่ในระดับโลกิยสุข เป็นความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนทั่วไปควรมี ท่านจำแนกไว้ 4 ประการ คือ

1. อัตถิสุข

อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ในความที่ตนมีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงแห่งตน หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร และหามาได้โดยชอบธรรม

2. โภคสุข

โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ในความที่ตนได้ใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงและโดยชอบธรรมนั้น ในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง ดูแลครอบครัว และบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ

3. อนณสุข

อนณสุข สุขเกิดจากความไม่มีหนี้ คือ ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ในความที่ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สิน ไม่ติดค้างใคร แสวงหาทรัพย์สินมาจับจ่ายใช้สอยด้วยน้ำพักน้ำแรงแห่งตน ไม่ต้องหยิบยืมใครให้เป็นหนี้เป็นสิน

4. อนวัชชสุข

อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ในความที่ตนเป็นผู้มีความประพฤติสุจริต ไม่มีความบกพร่องด้านศีลธรรม ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาชีพ ไม่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือจารีตประเพณี

ในความสุขทั้ง 4 ประการนี้ อนวัชชสุข มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับความประพฤติและเกี่ยวข้องกับศีลธรรมอันดี