เตลปตฺตํ ยถา ปริหเรยฺย เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข

เตลปตฺตํ ยถา ปริหเรยฺย เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข.

[คำอ่าน : เต-ละ-ปัด-ตัง, ยะ-ถา, ปะ-ริ-หะ-ไร-ยะ, เอ-วัง, สะ-จิด-ตะ-มะ-นุ-รัก-เข]

“พึงรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองบาตรเต็มด้วยน้ำมัน”

(ขุ.ชา.เอก. 27/31)

ธรรมดาจิตเป็นสภาพที่เปลี่ยนแปลง แปรปรวน อยู่เสมอ หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย มีอะไรมากระทบนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ฟุ้งซ่านเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์นั้น ๆ

เปรียบเสมือนน้ำมันที่บรรจุจนเต็มในบาตรหรือในภาวชนะใดก็ตาม หากมีการขยับเขยื้อนเพียงเล็กน้อย น้ำมันในบาตรนั้นก็กระเพื่อม และหกออกมาข้างนอกได้โดยง่าย จึงต้องได้รับการประคองอย่างดีจึงจะไม่หกออกมา

จิตของเราก็เหมือนกัน ต้องได้รับการประคับประคองอย่างดีด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่ายินดีหรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีก็ตาม

เพราะจิตที่กระเพื่อมไปตามอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็จะทำให้เกิดความหงุดหงิดขัดเคือง อันจะเป็นสาเหตุให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีได้ หรือถ้าจิตกระเพื่อมไปตามอารมณ์ที่น่าพอใจ ก็จะทำให้เกิดเป็นความโลภหรือความหลง อันจะเป็นสาเหตุให้ทำสิ่งที่ไม่ดีได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น พึงประคับประคองจิตให้ดีด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้จิตกระเพื่อมไปตามอารมณ์ภายนอกต่าง ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี