จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ “การฝึกจิต เป็นความดี”

จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ.

[คำอ่าน : จิด-ตัด-สะ, ทะ-มะ-โถ, สา-ทุ]

“การฝึกจิต เป็นความดี”

(ขุ.ธ. 25/19)

จิต คือตัวการของทุกสิ่งทุกอย่าง คนทำความดี ก็เพราะจิตสั่งให้ทำ คนทำความชั่ว ก็เพราะจิตสั่งให้ทำอีกเช่นกัน ร่างกายนี้เป็นทาสของจิต เป็นเพียงผู้กระทำตามคำสั่งของจิตเท่านั้น ดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับจิตทั้งสิ้น

การฝึกจิต ก็คือการทำให้จิตหมดพยศ ทำให้จิตตรง ทำให้จิตมีคุณธรรม ทำให้จิตเป็นกุศล ไม่ให้ยินดีในสิ่งที่เป็นบาป แต่ให้ยินดีในสิ่งที่เป็นกุศล ทำแต่กรรมที่เป็นฝ่ายสุจริต ไม่หลงผิดไปทำทุจริตกรรมต่าง ๆ นานา

เมื่อฝึกจิตได้ดังที่กล่าวมา เวลาจิตสั่งการให้กายทำอะไร ก็ย่อมจะเป็นไปแต่ในทิศทางที่เป็นบุญเป็นกุศลทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือตัวเราเองนี่แหละ หาใช่ใครอื่นไม่

ดังนั้น ท่านจึงแนะนำให้ฝึกจิต เพราะการฝึกจิตนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐนัก ยิ่งฝึกจิตได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะได้รับประโยชน์จากจิตมากเท่านั้น

การฝึกจิตที่ดี ควรฝึกในสามด้าน คือ

  • ฝึกจิตให้ยินดีในการให้ทาน เสียสละแบ่งปัน
  • ฝึกจิตให้ยินดีในการรักษาศีล
  • ฝึกจิตให้ยินดีในการเจริญภาวนา

เมื่อฝึกจิตได้สามด้านดังกล่าวมา ย่อมจะได้รับผลเป็นคุณงามความดี บารมีเพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด