จิตฺเตน นียตี โลโก “โลกอันจิตย่อมนำไป”

จิตฺเตน นียตี โลโก.

[คำอ่าน : จิด-เต-นะ, นี-ยะ-ตี, โล-โก]

“โลกอันจิตย่อมนำไป”

(สํ.ส. 15/54)

คำว่า “โลก” หมายถึง สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ย่อมถูกจิตชักจูงไป จะทำดีก็เพราะจิตชักจูงให้ทำ จะทำชั่วก็เพราะจิตชักจูงให้ทำ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่สุคติหรือทุคติ ก็จิตนี่แหละเป็นตัวนำไป

โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราทำตามอำนาจของจิต จิตเป็นตัวสั่งการ กายเป็นผู้ตอบสนอง คือทำทุกอย่างตามที่จิตสั่ง

จิตสั่งให้ทำดี กายก็ทำดี จิตสั่งให้ทำชั่ว กายก็ทำชั่ว เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า โลกอันจิตย่อมนำไป

เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว คือเมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็ต้องไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง ตามอำนาจของกรรมที่ทำมา ก็จิตนี่แหละเป็นตัวนำไป

คนที่ฝึกจิตดี ไม่ให้จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง จะทำให้จิตสะอาด ปราศศจากมลทิน เมื่อจิตสะอาดแล้ว ย่อมสั่งการให้กายทำแต่กรรมที่สะอาด คือกรรมอันเป็นฝ่ายสุจริตนั่นเอง เมื่อทำแต่กรรมที่เป็นฝ่ายสุจริต ก็ย่อมได้รับผลดีอันเกิดจากสุจริตกรรมนั้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พึงฝึกจิตให้ดีเถิด เมื่อฝึกจิตให้ดีแล้ว จิตจะนำไปในทางที่ดี