ธรรมนิยาม 3 ประการ

ธรรมนิยาม แปลว่า กำหนดแห่งธรรมดา ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา หรือ กฎธรรมชาติ หมายถึง กฎธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ สรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ล้วนต้องเป็นไปตามกฎนี้ มี 3 อย่าง คือ

1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง หมายความว่า สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่สามารถรับรู้ได้และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยอายตนะ เป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา คือเป็นไปตามหลักอนิจจตา

2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ หมายความว่า สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่สามารถรับรู้ได้และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยอายตนะ ล้วนเป็นทุกข์ คือเป็นไปตามหลักทุกขตา ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ย่อมเสื่อมโทรมไปเพราะถูกอนิจจตาบีบคั้น

3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวตน หมายความว่า ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือทั้งสังขารและวิสังขาร คือทั้งสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งและสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ล้วนแต่เป็นอนัตตา คือเป็นไปตามหลักอนัตตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปในอำนาจได้

ข้อแตกต่างระหว่าง สังขาร และ วิสังขาร ในความหมายของธรรมนิยาม คือ

สังขาร เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง เป็ททุกขัง คือเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนที่แท้จริง

ส่วน วิสังขาร (นิพพาน) เป็นนิจจัง คือเที่ยงแท้ เป็นสุขัง คือเป็นสุข แต่เป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่สามารถบังคับบัญชาได้