จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี “ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต”

จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี.

[คำอ่าน : จิด-ตัง, รัก-เข-ถะ, เม-ทา-วี]

“ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต”

(ขุ.ธ. 25/19)

ผู้มีปัญญา หมายถึง ผู้ที่มีวิจารณญาณมองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงโดยประการทั้งปวง ผู้มีปัญญาย่อมจะรู้ว่าจิตนั้นเป็นสภาพที่หวั่นไหวโอนเอนไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย และมักไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ผู้มีปัญญาจึงตามรักษาจิตของตนเองอยู่เสมอ ไม่ให้หวั่นไหวโอนเอนไปตามอารมณ์ของโลกที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาหรืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ตาม

เพื่อคุ้มครองจิตไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสที่คอยบงการจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้โกรธด้วยอำนาจของโทสะ ไม่ให้โลภด้วยอำนาจของโลภะ ไม่ให้หลงด้วยอำนาจของโมหะ

เมื่อคุ้มครองจิตได้ดีเช่นนี้ จิตย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสดังกล่าว ไม่ถูกกิเลสครอบงำบงการ จึงไม่ทำตามอำนาจกิเลส กระทำแต่กรรมที่เป็นสุจริต และย่อมได้รับผลดีจากการทำสุจริตนั้น เป็นการพอกพูนบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป สุดท้ายย่อมจะสามารถถึงทางอันเกษมคือพระนิพพานได้ในที่สุด