จิตฺตํ อตฺตโน อุชุกมกํสุ “คนฉลาด ได้ทำจิตของตนให้ซื่อตรง”

จิตฺตํ อตฺตโน อุชุกมกํสุ.

[คำอ่าน : จิด-ตัง, อัด-ตะ-โน, อุ-ชุ-กะ-มะ-กัง-สุ]

“คนฉลาด ได้ทำจิตของตนให้ซื่อตรง”

(ที.มหา. 10/288)

ธรรมดาของจิต ย่อมคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย คิดไปตามอำนาจของกิเลสที่ปรุงแต่งให้เป็นไป อันนี้เรียกว่าจิตคด จิตไม่ตรง ไม่ตรงต่อคุณงามความดี ไม่ตรงต่อทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน

แต่บุคคลผู้ฉลาด คือผู้ที่มีปัญญา ย่อมจะฝึกจิตของตน ดัดจิตของตนให้ตรง ตรงต่อคุณงามความดี ตรงต่อทางพ้นทุกข์คือมรรคผลนิพพาน คือทำจิตของตนให้อยู่ในลู่ทางที่ควรดำเนิน

เปรียบเหมือนเราขับรถ ถ้าเราบังคับรถไม่ดี ปล่อยให้รถวิ่งออกนอกลู่นอกทาง สิ่งที่จะตามมาคืออุบัติเหตุ ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะบังคับรถไม่ดี จิตก็เหมือนกัน ต้องบังคับมันให้อยู่ในลู่ในทาง อย่าให้คด อย่าให้โกง อย่าให้ออกนอกลู่ทางแห่งคุณงามความดี

เมื่อบังคับจิตให้อยู่ในลู่ทางที่ควรดำเนินได้แล้ว จิตไม่ออกนอกลู่นอกทาง ย่อมจะถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือพระนิพพานได้