ใจสั่งมา

ยศย่อมเจริญ แก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ฯลฯ

อุฏฺฐานวโต สตีมโต     สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน     อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.

[คำอ่าน]

อุด-ถา-นะ-วะ-โต, สะ-ตี-มะ-โต…………….สุ-จิ-กำ-มัด-สะ, นิ-สำ-มะ-กา-ริ-โน
สัน-ยะ-ตัด-สะ, จะ, ทำ-มะ-ชี-วิ-โน…อับ-ปะ-มัด-ตัด-สะ, ยะ-โส-พิ-วัด-ทะ-ติ

[คำแปล]

“ยศย่อมเจริญ แก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/18.

คือ ความยิ่ง ความเด่น หมายถึง ความยิ่งของคน ความเด่นของคน คือคนที่มียศจะมีความยิ่งกว่าคนอื่น มีความเด่นกว่าคนอื่น มีหน้ามีตาในสังคม ได้รับการยกย่องนับถือจากคนทั่วไป

ยศ แบ่งได้เป็น 3 อย่าง คือ

1. อิสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่ เช่น ยศทหาร ยศตำรวจ เป็นต้น

2. เกียรติยศ ยศคือคุณงามความดี ได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น

3. บริวารยศ ยศคือบริวารพวกพ้อง การมีคนรักใคร่นับถือมาก

ผู้ที่จะได้รับยศเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ คือ มีความหมั่น มีสติ การงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดี เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท

มีความหมั่น หมายถึง ขยัน เริ่มตั้งแต่ขยันเรียน ขยันศึกษาหาความรู้ เพราะสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการดำรงชีวิตก็คือปัญญาหรือความรู้ ซึ่งการที่คนจะมีปัญญาหรือมีความรู้ได้นั้น จำเป็นจะต้องเรียนต้องศึกษา

เราศึกษาเรียนรู้มาตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ก็เพื่อต้องการความรู้ความสามารถมาไว้ประกอบหน้าที่การงาน ถ้าไม่มีความรู้ความสามารถ ก็ขาดโอกาสที่จะมีอนาคตที่ดี โอกาสที่จะมีงานดี ๆ ทำก็น้อย โอกาสที่จะได้รับราชการมียศมีตำแหน่งสูง ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น ต้องขยันศึกษาหาความรู้

เมื่อศึกษาเล่าเรียนจบแล้ว เข้าสู่วัยทำงาน ก็ยังต้องขยันทำงานอีกต่อไป ผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ขยันทำงาน ผลงานเป็นที่ปรากฏ ย่อมจะได้รับความยอมรับนับถือจากผู้อื่น การที่จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นย่อมไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าในวงการราชการหรือเอกชนก็ตาม ดังนั้น ขยันเข้าไว้จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

มีสติ หมายถึง ใช้ชีวิตด้วยสติ ทำงานด้วยสติ ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ต้องมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ต้องระลึกรู้เสมอว่า กำลังทำสิ่งใด สิ่งนั้นดีหรือชั่ว มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ทำไปแล้วจะเกิดโทษหรือไม่

การมีสตินั้น จะช่วยป้องกันการกระทำของเราไม่ให้เป็นไปในทางที่ชั่ว เพราะเหตุที่ระลึกรู้การกระทำของตนอยู่เสมอนั่นเอง จึงทำให้ป้องกันการทำบาปได้ เมื่อไม่ทำบาป การกระทำทั้งหลายย่อมเป็นไปในทางที่ดี และคนดีนี่เองจึงเป็นผู้คู่ควรแก่การได้รับยศ
มีการงานสะอาด หมายถึง ทำหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา ไม่คดโกง เพราะหน่วยงานทั้งหลาย ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ต่างต้องการคนดีมีศีลธรรมมาทำงานในหน่วยงานทั้งสิ้น

ไม่มีหน่วยงานใดเลยที่ต้องการคนทุจริตคดโกงเข้ามาทำงาน ทุก ๆ หน่วยงานต้องการคนดีและส่งเสริมคนดี ดังนั้น การที่เราตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้น จะเป็นหนทางที่ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือ และได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้

ใคร่ครวญแล้วทำ หมายถึง ความเป็นคนรอบคอบ จะทำการสิ่งใดใคร่ครวญก่อนเสมอ โดยยึดหลักของสัมปชัญญะ 4 ประการ คือ

สาตถกสัมปชัญญะ ใคร่ครวญให้รู้ชัดว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์หรือไม่ ถ้ามีประโยชน์จึงทำ ถ้าไม่มีประโยชน์ก็หยุดเสีย

สัปปายสัมปชัญญะ ใคร่ครวญให้รู้ชัดว่าทำสิ่งนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ หรือทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม

โคจรสัมปชัญญะ คือ ใคร่ครวญให้รู้ชัดว่า งานที่ทำควรมีขอบเขตแค่ไหน ทำแค่ไหนถึงจะพอดี แล้วทำงานนั้นออกมาให้ดีในขอบเขตที่เหมาะสม

อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ ใคร่ครวญด้วยหลักการและเหตุผลอย่างแท้จริง ใคร่ครวญอย่างมีหลักอ้าง ไม่ใช่คิดเอาเอง หรือคาดเดา แต่เป็นการใคร่ครวญตามหลักวิชาการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา

ผู้ที่ทำงานด้วยความรอบคอบ ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเช่นนี้ จึงคู่ควรแก่การได้รับยศตำแหน่ง

ระวังดี หมายถึง การระมัดระวังไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาป ไม่ทำสิ่งที่ผิด สิ่งใดเคยผิดพลาดก็แก้ไขให้ดีขึ้น และระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก มีระเบียบวินัยในการทำงาน ที่สำคัญที่สุดคือระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น คือระวังตัวเองไม่ให้เผลอไปทำบาปหรือทำความผิดนั่นเอง

เป็นอยู่โดยธรรม หมายถึง การใช้ชีวิตภายใต้หลักศีลธรรมอันดี ประพฤติตนอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายบ้านเมือง และกฎระเบียบขององค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการบุคลากรที่มีศีลมีธรรม มีระเบียบวินัย เพราะบุคลากรแบบนี้จะไม่สร้างปัญหาให้หน่วยงาน ไม่สร้างความเสื่อมเสียให้หน่วยงาน นอกจากนั้นยังจะสร้างชื่อเสียงอันดีให้หน่วยงานได้อีกด้วย

ไม่ประมาท มีความหมายเป็น 2 นัย คือ

นัยที่ 1 หมายถึง ไม่ประมาทเลินเล่อจนทำให้งานเสียหาย คือมีสติรอบคอบในการทำงานนั่นเอง

นัยที่ 2 หมายถึง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในยศในตำแหน่งที่ได้รับ เพราะบุคคลที่ลุ่มหลงมัวเมาในยศในตำแหน่งนั้น มักจะมีความทะเยอทะยาน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งยศตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่ทำนั้นจะถูกหรือผิด หรือมักจะใช้ยศตำแหน่งในทางที่ผิด เช่น ใช้ยศตำแหน่งเบียดเบียนคนอื่น แสวงผลประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น

ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ มีงานที่จะต้องรับผิดชอบ ขอให้ทำงานโดยยึดหลักคุณธรรมดังกล่าวมาข้างต้น คือมีความหมั่นขยันทำงาน ทำงานอย่างมีสติ ทำงานด้วยความสุจริต ทำงานด้วยความคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบ ทำงานด้วยความระมัดระวัง ทำงานภายใต้กรอบของศีลธรรม และทำงานด้วยความไม่ประมาท

แต่ไม่ต้องทำเพื่อหวังยศใด ๆ ให้ตั้งใจทำงานด้วยความสุจริตใจ ยศและเกียรติ ย่อมจะปรากฏแก่ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวนั้นอย่างแน่นอน.