ศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มของมึนเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มของมึนเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มของมึนเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ความมุ่งหมายของศีลข้อที่ 5 นี้ ก็คือ ต้องการให้มนุษย์เรารักษาสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ทำลายสติสัมปชัญญะของตนเอง เพราะการเสพของมึนเมานั้น เป็นการทำลายสติสัมปชัญญะ เมื่อสติสัมปชัญญะถูกทำลายลงแล้ว ก็เป็นการง่ายที่คนคนหนึ่งจะทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม ผิดกฏหมายบ้านเมือง

สุราและเมรัย

สุรา คือ น้ำเมาที่ได้มาจากการกลั่น หรือเหล้านั่นเอง

เมรัย คือ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เช่น เหล้าดิบ กระแช่ น้ำตาลเมา เป็นต้น พวกยาเสพติดทั้งหลาย เช่น ยาบ้า ฝิ่น กัญชา มอร์ฟีน เป็นต้น รวมความว่า สิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง ก็รวมอยู่ในข้อนี้ด้วย

หลักวินิจฉัย

การที่บุคคลคนหนึ่งจะผิดศีลข้อที่ 5 ต้องประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ

  1. น้ำที่ดื่มนั้นเป็นน้ำเมา
  2. จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
  3. พยายามดื่มน้ำเมา
  4. น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป

น้ำที่ดื่มนั้นเป็นน้ำเมา หมายถึง วัตถุ คือสิ่งที่เราจะดื่มหรือเสพนั้นต้องเป็นของมึนเมาจริง ๆ ถ้าคิดว่าจะดื่มเหล้า แต่ไปคว้าเอาแก้วน้ำชามาดื่ม ถึงมีจิตคิดจะดื่มเหล้า แต่วัตถุไม่ใช่ของมึนเมา ก็ไม่ผิด เพราะองค์ไม่ครบ

จิตคิดจะดื่มน้ำเมา คือ ผู้ที่ดื่มหรือเสพนั้น ต้องมีความคิดหรือความตั้งใจที่จะดื่มเหล้าหรือเสพของมึนเมาจริง ๆ ศีลจึงจะขาด ถ้าเอาเหล้ามาเป็นส่วนผสมของยาบางชนิด แล้วเราดื่มยานั้นเข้าไป จิตคิดจะดื่มเหล้าไม่มี อย่างนี้ศีลก็ไม่ขาด เพราะเราตั้งใจกินยา ไม่ได้ตั้งใจกินเหล้า

พยายามดื่มน้ำเมา หมายถึง กิริยาคือการดื่มนั่นเอง ถ้ามีเหล้าอยู่ในมือ มีความคิดจะดื่มเหล้า แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ดื่ม ศีลก็ยังไม่ขาด เมื่อใดที่ทำกิริยาคือการดื่มและน้ำเหล้าล่วงลำคอลงไป ศีลจึงขาด

น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป คือ เมื่อกลืนของมึนเมานั้นเข้าไป เช่น ดื่มเหล้า เมื่อเหล้านั้นไหลล่วงลำคอลงไป ถือว่าศีลขาด

โทษของการดื่มเหล้า 6 ประการ

1. เหล้าทำให้เสียทรัพย์

ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรี ๆ เหล้าก็เช่นกัน เมื่อคิดจะดื่มเหล้า แน่นอนว่าต้องเสียเงินซื้อเหล้า ดื่มคนเดียวก็เสียคนเดียว ดื่มหลายคนก็เสียทรัพย์กันหลายคน หรือถ้ามีคนใจใหญ่หน่อยก็อาจจะเสียทรัพย์แค่คนเดียว คือเสียเงินซื้อเหล้าเลี้ยงเพื่อน แต่ไม่ว่าจะเสียทรัพย์กี่คนก็ตาม เหล้า มันก็ทำให้เสียทรัพย์ทั้งนั้น

2. เหล้าเป็นเหตุก่อวิวาท

เมื่อเหล้าเข้าปาก นิสัยคนก็เปลี่ยน กลายเป็นคนที่มีความกล้าขึ้นมาทันที อะไรชั่ว ๆ กล้าทำหมด กล้าด่า กล้าพูดจายียวนกวนประสาท กล้าสารพัดจะกล้า สุดท้ายก็ก่อการทะเลาะวิวาทกันเองในวงเหล้าบ้าง ทะเลาะกับคนอื่นบ้าง ก่อให้เกิดการทำร้ายกัน และถึงขั้นฆ่ากันตายก็มีมาเยอะแล้ว

3. เหล้านำโรคมาให้

เหล้า เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อทางเดินอาหาร ระบบประสาท ทางเดินโลหิต ต่อมไร้ท่อ และระบบการหายใจ

ในวงการแพทย์ต่างประเทศที่วิจัยปัญหาเรื่องสุราอย่างละเอียด ก็ได้สรุปว่า โรคติดสุรา มีอยู่ 4 ประเภท คือ

  1. โรคเมาสุรา (Pathological)
  2. โรคไข้เหล้า (Delirium Tremens)
  3. โรคเหล้าละลายประสาท (Horsakoff’ syndrome)
  4. โรคเหล้าละลายจิต (Acute hallucinosis)

4. เหล้าทำให้เสียชื่อเสียง

เหล้า เป็นตัวทำลายสติสัมปชัญญะ คนที่มีชื่อเสียง เมื่อดื่มเหล้าเข้าไป ความเมาอาจทำให้ทำอะไรที่เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นที่อับอายขายหน้าได้ง่าย ๆ แม้แต่บุคคลทั่วไป เมื่อเมาขึ้นมาแล้ว ย่อมสามารถทำความผิดได้ทุกอย่าง ทุกเวลา เมื่อทำความผิด ย่อมเป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงได้ทุกคน

5. เหล้าเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่น่าอดสู

วิญญูชนย่อมรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตนเอง แต่เมื่อใครก็ตามที่ได้ดื่มเหล้าไปแล้ว ความเมาอันเกิดจากเหล้าย่อมทำให้เขาทำสิ่งที่น่าอับอายต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างไม่มีความรู้สึกกระดากอาย

6. เหล้าบั่นทอนกำลังปัญญา

เหล้า เป็นตัวทำลายสติสัมปชัญญะ เมื่อขาดสติสัมปชัญญะ ปัญญาก็ลดน้อยถอยลงไป คนที่ดื่มเหล้าจนติด จะขาดปัญญาพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป