ธรรมมีอุปการะมาก 2 ประการ

ธรรมมีอุปการะมาก หรือ พหุปการธรรม คือหลักธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือการทำคุณงามความดีทุกประเภท หรือแม้แต่การดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงาน เป็นหลักธรรมที่ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำ พูด คิด หรือทำกิจใด ๆ ก็ตาม มีอยู่ 2 ประการ คือ

  1. สติ ความระลึกได้
  2. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม

ทำไมจึงชื่อว่า “ธรรมมีอุปการะมาก”

ธรรมะในหมวดนี้ คือ สติ ความระลึกได้ และ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เป็นธรรมะที่มีผลช่วยยับยั้งไม่ให้เราเผลอทำสิ่งที่ผิดพลาด เป็นธรรมะที่ช่วยประคับประคองให้เราไม่เกิดความประมาท ทำให้การทำ การพูด การคิด ของเราดำเนินไปได้อย่างเป็นกระบวนการ มีประสิทธิภาพ ไม่เผลอ ไม่ผิดพลาด เปรียบเสมือนพ่อแม่ที่คอยสอดส่องและตักเตือนไม่ให้ลูกทำสิ่งที่ผิดพลาด เหตุนั้นธรรมะในหมวดนี้จึงได้ชื่อดังนั้น

ความหมายของ “สติ” และ “สัมปชัญญะ”

สติ คือ ความระลึกได้ หมายถึง การฉุกคิดขึ้นได้ก่อนที่จะทำ พูด หรือคิดอะไร หรือความมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ พูด หรือคิด ทำให้เรารู้อยู่เสมอว่า เราจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร หรือเรากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร สติจึงเป็นตัวกำกับอย่างดีไม่ให้เราเผลอทำผิด พูดผิด หรือคิดผิด

สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือรู้ชัดแจ้งตามความเป็นจริง เข้าใจชัดเจน ในสิ่งที่สติระลึกได้ ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นต้น เมื่อเรารู้ชัดว่าสิ่งที่เรากำลังทำ พูด คิด เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เราก็จะสามารถทำสิ่งที่ถูกต้อง และยับยั้งการทำ พูด คิด ที่ผิดทำนองคลองธรรมเสียได้

ลักษณะของสัมปชัญญะ

สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม มี 4 ลักษณะ คือ

  1. สาตถกสัมปชัญญะ
  2. สัปปายสัมปชัญญะ
  3. โคจรสัมปชัญญะ
  4. อสัมโมหสัมปชัญญะ

สาตถกสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่าสิ่งนั้น ๆ มีประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็จะทำให้เราตัดสินใจหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้

สัปปายสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่า สิ่งนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ก็จะทำให้เราตัดสินใจทำสิ่งที่ดี ละเว้นสิ่งที่ไม่ดีเสียได้

โคจรสัมปชัญญะ คือ ความรู้ชัดถึงขอบเขตของสิ่งที่เราจะทำหรือกำลังทำ ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่า สิ่งที่เราจะทำหรือกำลังทำอยู่นั้น เราควรจะทำแค่ไหนถึงจะพอดี

อสัมโมหสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่หลงงมงาย คือเราจะทำอะไรหรือกำลังทำอะไร เรารู้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ และความรู้ที่ว่านั้นเป็นความรู้ตามความเป็นจริง มีหลักยึด ไม่ใช่รู้เพราะคิดเอาเอง ไม่ใช่รู้จากการคาดเดา หรือไม่ใช่ความเข้าใจผิด

ประโยชน์ของสติสัมปชัญญะ

สติ และ สัมปชัญญะ เมื่อหมั่นฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอย่อมจะก่อประโยชน์เป็นอันมาก ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำ พูด คิด หรือทำกิจใด ๆ ก็ตาม ช่วยสนับสนุนให้กิจสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม

ในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ถ้ามีสติสัมปชัญญะประกอบก็จะทำให้การประกอบกิจต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยปราศจากความผิดพลาด หรือมีความผิดพลาดน้อย

ในทางธรรมนั้น สติและสัมปชัญญะยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับเสมอจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมสำเร็จได้ ถ้าขาดสติและสัมปชัญญะเสียแล้ว การปฏิบัติธรรมย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้เลย

หลักปฏิบัติในการฝึกตนให้มีสติสัมปชัญญะ

หากต้องการฝึกตนให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะ สามารถทำได้ด้วยวิธีดังนี้

  1. รักษาศีลข้อที่ 5 ให้ดี คืองดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เครื่องดองของมึนเมาทุกชนิด และงดเว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวทำลายสติโดยตรง
  2. ฝึกเจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำ
  3. ทุกครั้งที่ทำ พูด คิด ต้องฝึกจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่วอกแวก ไม่ปล่อยใจให้ลอยไปนอกเรื่องที่กำลังทำ พูด หรือคิด
  4. ฝึกกรรมฐานตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นวิธีสร้างสติโดยตรง