บุคคลได้สิ่งใด ไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น ปรารถนาสิ่งใด ดูหมิ่นสิ่งที่ได้แล้วนั้น ฯลฯ

ยํ ลภติ น เตน ตุสฺสติ
ยํ ปตฺเถติ ลทฺธํ หีเฬติ
อิจฺฉา หิ อนนฺตโคจรา
วิคติจฺฉานํ นโม กโรม เส.

[คำอ่าน]

ยัง, ละ-พะ-ติ, นะ, เต-นะ, ตุด-สะ-ติ
ยัง, ปัด-เถ-ติ, ลัด-ทัง, หี-เล-ติ
อิด-ฉา, หิ, อะ-นัน-ตะ-โค-จะ-รา
วิ-คะ-ติด-ฉา-นัง, นะ-โม, กะ-โร-มะ, เส

[คำแปล]

“บุคคลได้สิ่งใด ไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น ปรารถนาสิ่งใด ดูหมิ่นสิ่งที่ได้แล้วนั้น เพราะความต้องการไม่มีที่สุด, พวกเราจงทำความนอบน้อมผู้ปราศจากความต้องการเถิด.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.ทุก. 27/94.

ความต้องการ เป็นความรู้สึกพื้นฐานที่มีอยู่ในบุคคลทุกคน ไม่มีใครที่จะไม่มีความต้องการ จะต่างกันตรงที่มีมากหรือน้อยเท่านั้น เมื่อมีความต้องการแล้วก็เกิดการแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ต้องการน้อยก็แสวงหาน้อย ต้องการมากก็แสวงหามาก เมื่อได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว ก็ยังไม่พอใจ ยังมีความต้องการในสิ่งอื่น ๆ อีก และก็แสวงหาอีกไม่รู้จบ วงจรชีวิตของสัตว์โลกทั้งหลายเป็นเช่นนี้ เมื่อความต้องการไม่รู้จบ ก็ต้องแสวงหาไม่รู้จบ และต้องประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อนจากความต้องการและการแสวงหานั้นไม่รู้จบเช่นกัน

บุคคลผู้มีปัญญา พิจารณาเห็นทุกข์และโทษอันมีเหตุเกิดมาจากความต้องการนั้น ย่อมแสวงหาหนทางที่จะกำจัดความต้องการให้หมดไปจากจิตจากใจ ซึ่งหนทางที่จะกำจัดความต้องการออกจากจิตใจได้นั้น มีหนทางเดียวคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญาญาณพิจารณาหยั่งรู้สภาวะของสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง จะได้ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย กำจัดกิเลสตัณหาในจิตใจเสียได้ เมื่อทำได้ดังนี้ความต้องการก็จะไม่เกิด ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง จิตใจสบาย ไม่ต้องลำบากเดือดร้อนด้วยการดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

บุคคลผู้ที่สามารถกำจัดความต้องการได้แล้วดังกล่าวนั้น เป็นบุคคลที่ควรยกย่องนับถือ และควรถือเป็นทิฏฐานุคติคือแบบอย่างที่ดีที่ควรทำตาม.

You may also like...