การไม่เห็นสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ และการเห็นสิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ ฯลฯ

ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ     อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ
ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ     ปิยาปาโย หิ ปาปโก.

[คำอ่าน]

ปิ-ยา-นัง, อะ-ทัด-สะ-นัง, ทุก-ขัง…..อับ-ปิ-ยา-นัน-จะ, ทัด-สะ-นัง
ตัด-สะ-หมา, ปิ-ยัง, นะ, กะ-ยิ-รา-ถะ…..ปิ-ยา-ปา-โย, หิ, ปา-ปะ-โก

[คำแปล]

“การไม่เห็นสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ และการเห็นสิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ เหตุนั้นจึงไม่ควรทำอะไรให้เป็นที่รัก เพราะความพรากจากสิ่งที่รักเป็นการทราม.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/43.

ความรู้สึกรัก และความรู้สึกไม่รักหรือความรู้สึกเกลียด เป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นปุถุชนทั่วไป เมื่อมีความรู้สึกรักในผู้ใดผู้หนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเกิดความผูกพัน หวงแหน ไม่อยากเสียไป เมื่อสูญเสียสิ่งที่รักไป ความทุกข์ย่อมเกิด อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลมีความไม่รักหรือมีความเกลียดชังในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมไม่อยากจะพบเจอ ไม่อยากจะใกล้ชิด ไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ๆ หรือบุคคลนั้น ๆ เช่น สิ่งของอันไม่น่าชอบใจ หรือบุคคลผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาต เป็นต้น หากต้องประสบพบเจอกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักหรือบุคคลที่ไม่ชอบใจ ความทุกข์ก็ย่อมเกิดได้เช่นกัน

วิธีที่จะทำให้ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่รักหรือไม่รักนั้น มีวิธีเดียวคือการสร้างปัญญาให้เกิดด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หมั่นพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงบนโลกใบนี้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น แล้วทำใจให้ปล่อยวางในสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ๆ ทั้งที่เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ เห็นสิ่งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีสภาพเสมอกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จะทำให้คลายความรู้สึกรักและความรู้สึกเกลียดในสิ่งทั้งปวงได้ มีใจเป็นกลางในสิ่งทั้งปวง ไม่รักและไม่เกลียด เมื่อคลายความรู้สึกรักและความรู้สึกเกลียดได้แล้ว ความทุกข์เพราะความรักและความทุกข์เพราะความเกลียดชัง ย่อมเป็นอันกำจัดได้ด้วยเช่นกัน.

You may also like...