อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ “ตนไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง”

อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ.

[คำอ่าน : อัด-ตะ-นา, อะ-กะ-ตัง, ปา-ปัง, อัด-ตะ-นา, วะ, วิ-สุด-ชะ-ติ]

“ตนไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง”

(ขุ.ธ. 25/37, ขุ.มหา. 29/37, ขุ.จู. 30/116)

คำว่า “บาป” คือสิ่งที่ทำให้สภาพจิตของคนเราตกต่ำ คือสิ่งที่ทำแล้วสร้างความเดือดร้อนให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายเอาสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายอันเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมทางศาสนา ผิดกฏหมายบ้านเมือง ผิดจารีตประเพณี

บาป เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทำแทนใครได้ ทุกคนที่ทำบาป ย่อมทำด้วยตนเองทั้งนั้น และผลของบาป ย่อมไม่มีใครสามารถรับแทนกันได้เช่นเดียวกัน ใครเป็นผู้ทำ ผลของบาปก็ย่อมตกอยู่กับผู้นั้นอย่างแน่นอน

ในเมื่อการทำบาปเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลผู้กระทำนั้นเศร้าหมองเกลื่อนกล่นไปด้วยผลของบาป เปรียบเหมือนบุคคลผู้ลุยลงไปในโคลน ย่อมแปดเปื้อนไปด้วยโคลนฉะนั้น

ตรงกันข้าม ผู้ไม่กระทำบาป ก็ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากผลของบาป เปรียบเหมือนบุคคลผู้ที่ไม่ได้ลุยลงไปในโคลน ย่อมไม่มีโคลนแปดเปื้อนตัว ย่อมมีเนื้อตัวอันสะอาด ฉะนั้น