ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ

ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ

ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ

ศีลข้อนี้ ท่านบัญญัติไว้เพื่อป้องกันการทำลายประโยชน์ของตนและของผู้อื่นด้วยการกล่าวคำเท็จ และให้ฝึกจิตใจของตนให้เป็นผู้มั่นคงในคุณงามความดี

ข้อห้าม

โดยความมุ่งหมายของศีลข้อที่ 4 นี้ ท่านห้ามกระทำ 3 อย่าง ดังนี้

  1. มุสา
  2. อนุโลมมุสา
  3. ปฏิสสวะ

มุสา ทำให้ศีลขาด อนุโลมมุสา และ ปฏิสสวะ ทำให้ศีลด่างพร้อย

มุสา

มุสา แปลว่า เท็จ หมายถึงการกล่าวคำเท็จ หรือการโกหก โดยส่วนใหญ่เราจะเข้าใจกันว่า มุสา หมายถึงการกล่าวเท็จเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ท่านหมายเอาการกระทำเท็จทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโกหกด้วยวาจา หรือโกหกด้วยกาย ก็ผิดศีลข้อนี้ทั้งหมด ดังนั้น มุสา จึงแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ

1. มุสาทางวาจา

มุสาทางวาจา หมายเอาการกล่าวคำเท็จ กล่าวคำโกหกออกมาตรง ๆ นั่นเอง

2. มุสาทางกาย

มุสาทางกาย หมายเอาการทำเท็จทางกาย เช่น เขียนจดหมายโกหก รายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม เป็นต้น

มุสาวาท มี 7 ลักษณะ ดังนี้

  1. ปด
  2. ทนสาบาน
  3. ทำเล่ห์กระเท่ห์
  4. มารยา
  5. ทำเลศ
  6. เสริมความ
  7. อำความ

ปด

ปด ได้แก่ การโกหกชัด ๆ ไม่รู้ก็ว่ารู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น ไม่มีก็ว่ามี เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า ปด

ทนสาบาน

ทนสาบาน คือ ทนสาบานตัวเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ สาบานให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อหลอกให้คนอื่นเชื่อในเรื่องที่ไม่จริง หรือเพื่อให้ตนเองพ้นผิด อย่างนี้เรียกว่า ทนสาบาน

ทำเล่ห์กระเท่ห์

ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินเหตุ เช่น อวดว่าตนมีวิชาอาคมขลังยิงไม่ออกแทงไม่เข้า อวดว่าตนมีวิชามหาเสน่ห์ทำให้คนรักคนหลง เป็นต้น

มารยา

มารยา คือ การแสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น เจ็บน้อยก็ทำทีเป็นเจ็บมาก แสดงอาการบางอย่างเกินความจริง อย่างนี้เรียกว่า มารยา

ทำเลศ

ทำเลศ คือ ใจอยากจะกล่าวเท็จ แต่ทำทีเล่นสำนวน กล่าวคลุมเครือ ทำให้ผู้อื่นหลงสำนวนจนเข้าใจผิด

เสริมความ

เสริมความ คือ เรื่องจริงก็มีอยู่ แต่มีน้อย คนพูดอยากให้คนฟังเห็นเป็นเรื่องใหญ่ จึงเสริมความให้มีเนื้อหามากขึ้น หรือแสดงกิริยาท่าทางให้ดูยิ่งใหญ่มากขึ้น เพื่อให้คนฟังเห็นเป็นเรื่องใหญ่โต

อำความ

อำความ คือ เรื่องจริงมีอยู่เยอะ แต่ปกปิด พูดความจริงไม่หมด เก็บงำความจริงบางอย่างไว้ไม่พูดออกมาทั้งหมด

หลักวินิจฉัยมุสาวาท

การที่บุคคลจะผิดศีลข้อที่ 4 นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ

  1. เรื่องไม่จริง
  2. จิตคิดจะกล่าวให้ผิด
  3. พยายามกล่าวออกไป
  4. คนฟังเข้าใจเนื้อความ

เรื่องไม่จริง คือ เรื่องนั้นไม่มีความจริงเลย ไม่มีความจริง ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ฝนไม่ได้ตก แต่เราบอกว่าฝนตก

จิตคิดจะกล่าวให้ผิด คือ มีเจตนาจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด

พยายามกล่าวออกไป คือ เมื่อได้คิดที่จะโกหกแล้ว ก็กล่าวคำเท็จออกไปจริง ๆ หรือแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้คนอื่นเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง

คนฟังเข้าใจเนื้อความ คือ คนฟังสามารถเข้าใจเนื้อหาของคำพูดที่เรากล่าวโกหก หรือกิริยาท่าทางที่เราแสดงออกไปนั้น ส่วนเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น ไม่เป็นประเด็น

อนุโลมมุสา

อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่กล่าวนั้นไม่จริง และผู้กล่าวก็ไม่ได้เจตนาที่จะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ เช่น การกล่าวประชด ตัวอย่างเช่น นายดำทำงานช้ามาก นายแดงก็เลยกล่าวประชดว่า นายดำทำงานนี้มาชาติหนึ่งแล้วยังไม่เสร็จเลย ความจริงนายดำไม่ได้ทำงานนั้นมาชาติหนึ่งแล้วอย่างที่นายแดงกล่าว และนายแดงก็ไม่ได้เจตนาที่จะให้ใครเข้าใจผิด เพียงแต่พูดประชดแดกดันเท่านั้น อย่างนี้เป็นอนุโลมมุสา

ปฏิสสวะ

ปฏิสสวะ คือ การรับคำผู้อื่นไว้ แต่ภายหลังกลับคำ ไม่ทำตามที่ได้รับปากไว้ ทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้อยู่ แต่ไม่ยอมทำตามที่พูด อย่างนี้เรียกว่า ปฏิสสวะ คือ กลับคำ นั่นเอง

ข้อยกเว้นของมุสาวาท

มีคำกล่าวบางประเภท ซึ่งผู้พูดได้กล่าวคำที่ไม่จริงออกไป แต่ไม่ได้ประสงค์ให้ผู้ฟังเชื่อ ซึ่งเรียกว่า ยถาสัญญา คือกล่าวตามสำคัญ ผู้พูดไม่ผิดศีล คือ

โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียมเพื่อความไพเราะของภาษา เช่น การเขียนจดหมาย ที่ลงท้ายว่า “ด้วยความเคารพอย่างสูง” นี่คือเราเขียนตามธรรมเนียมของการเขียนจดหมาย ซึ่งความจริงเราอาจไม่ได้เคารพ หรือเคารพอยู่ แต่ไม่ได้เคารพอย่างสูงถึงขนาดนั้น

นิยาย เช่น คนแต่งนิยายขึ้นมาเล่า หรือแต่งเป็นบทละคร ลิเก เล่าเรื่องว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ไม่จัดว่าผิดศีล เพราะผู้ฟังย่อมรู้โดยธรรมดาอยู่แล้วว่า นิยาย ไม่ใช่เรื่องจริง

สำคัญผิด คือ ผู้พูดเข้าใจผิด พูดคำไม่จริงออกไปโดยไม่มีเจตนาที่จะกล่าวเท็จ เพียงแต่พูดออกไปตามความเข้าใจหรือความจำของตนเท่านั้น

พลั้ง คือ กล่าวพลั้งไปด้วยความผิดพลาด ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวคำเท็จ