ไม่ควรฟังคำก้าวร้าวของคนอื่น, ไม่ควรมองดูการงานของคนอื่น ฯลฯ

น ปเรสํ วิโลมานิ     น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย     กตานิ อกตานิ จ.

[คำอ่าน]

นะ, ปะ-เร-สัง, วิ-โล-มา-นิ…..นะ, ปะ-เร-สัง, กะ-ตา-กะ-ตัง
อัด-ตะ-โน, วะ, อะ-เวก-ไข-ยะ…..กะ-ตา-นิ, อะ-กะ-ตา-นิ, จะ

[คำแปล]

“ไม่ควรฟังคำก้าวร้าวของคนอื่น, ไม่ควรมองดูการงานของคนอื่น ที่เขาทำแล้วและยังไม่ได้ทำ, ควรพิจารณาดูแต่การงานของตน ที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/21.

คำว่า คำก้าวร้าว หมายถึง คำพูดที่ไม่ดีทั้งหลาย เช่น คำพูดหยาบคายทำให้เจ็บใจ คำพูดส่อเสียดกระแนะกระแหน คำด่า เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นคำพูดที่ไม่ดี เป็นวจีทุจริต คำพูดก้าวร้าวของคนอื่นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใส่ใจ ไม่ควรเอาใจฝักใฝ่ในคำพูดเหล่านั้น เพราะเป็นคำที่ไร้ประโยชน์ ไม่สร้างความเบิกบานใจให้แก่ผู้ฟัง อีกอย่างหนึ่ง วจีทุจริตของคนอื่น ย่อมส่งผลเสียต่อเจ้าของวจีทุจริตนั้นเท่านั้น ไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใด ๆ ให้เราได้ หากเราไม่เก็บมาใส่ใจ ดังนั้น จึงไม่ควรใส่ใจคำก้าวร้าวดังกล่าวนั้น

อีกอย่างหนึ่ง หน้าที่การงานทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ต่างคนต่างมีหน้าที่การงานของตนที่จะต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานทางโลก อันจะพึงต้องทำเพื่อการดำรงชีวิต หรือจะเป็นหน้าที่การงานทางธรรม อันได้แก่การปฏิบัติขัดเกลาตนเพื่อให้เป็นผู้มีจิตผ่องใสไร้กิเลสมัวหมอง หน้าที่การงานเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเฉพาะตัว คือใครทำคนนั้นก็ได้ประโยชน์ ใครไม่ทำคนนั้นก็เสียประโยชน์ ดังนั้น ต่างคนจึงต่างมีหน้าที่ที่จะต้องทำหน้าที่การงานของตนเองให้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสั่งสอนว่า ให้เราหมั่นพิจารณาใคร่ครวญหน้าที่การของเราเองว่า มีสิ่งไหนที่ขาดตกบกพร่อง จะได้แก้ไขให้บริบูรณ์ มีสิ่งไหนที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ จะได้ทำให้สำเร็จลุล่วง ให้พิจารณาหน้าที่การงานของตนเองคือกิจของตนเองเท่านั้น ส่วนหน้าที่การงานของคนอื่นหรือกิจของคนอื่น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา อย่าไปเดือดร้อนวุ่นวายกับเรื่องของคนอื่นเลย.

You may also like...