ในโลกนี้ ผู้ที่ชอบถือตัว ย่อมไม่มีการฝึกฝนตน ฯลฯ

น มานกามสฺส ทโม อิธตฺถิ
น โมนมตฺถิ อสมาหิตสฺส
เอโก อรญฺเญ วิหรมฺปมตฺโต
น มจฺจุเธยฺยสฺส ตเรยฺย ปารํ.

[คำอ่าน]

นะ, มา-นะ-กา-มัด-สะ, ทะ-โม, อิ-ทัด-ถิ
นะ, โม-นะ-มัด-ถิ, อะ-สะ-มา-หิ-ตัด-สะ
เอ-โก, อะ-รัน-เย, วิ-หะ-รำ-ปะ-มัด-โต
นะ, มัด-จุ-ไท-ยัด-สะ, ตะ-ไร-ยะ, ปา-รัง

[คำแปล]

“ในโลกนี้ ผู้ที่ชอบถือตัว ย่อมไม่มีการฝึกฝนตน, คนมีใจไม่มั่นคงย่อมไม่มีความรู้, ผู้ประมาท แม้อยู่ในป่าคนเดียว ก็ข้ามฝั่งแห่งแดนมฤตยูไม่ได้.”

(เทวตา) สํ.ส. 15/6.

มานะ คือ ความถือตัว เป็นกิเลสตัวหนึ่งที่เป็นเครื่องขวางกั้นคุณความดี บุคคลเมื่อมีมานะคือความถือตัวแล้ว ย่อมเป็นคนหัวดื้ออวดดี มีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป ชอบเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ขาดความยอมรับนับถือในบุคคลอื่น ไม่ยอมฟังใคร เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมไม่มีการฝึกฝนตนเอง หลงตัวเอง ขาดการปฏิบัติขัดเกลาตน เขาย่อมเหินห่างจากคุณงามความดีออกไปเรื่อย ๆ

บุคคลผู้มีใจไม่มั่นคง คือเป็นคนสมาธิน้อย ไม่สามารถมีใจจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน เป็นเหตุให้ปัญญาพัฒนาได้น้อย ตัวอย่างเช่น เวลาเรียนหนังสือ ถ้าไม่มีสมาธิในการเรียน ย่อมไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียนได้ คิดนอกเรื่องไปต่าง ๆ นานา เช่นนี้ ย่อมไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของสิ่งที่เรียนได้ ความรู้ย่อมไม่เกิด ปัญญาย่อมไม่เจริญ หรือในเวลาปฏิบัติกรรมฐานก็ย่อมต้องการสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าปฏิบัติไปแล้วจิตไม่เป็นสมาธิ คิดฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา วิปัสสนาญาณย่อมไม่สามารถเกิดได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล ปัญญาย่อมไม่เจริญ

ผู้ประมาท คือผู้ที่ลุ่มหลงในสิ่งทั้งหลายอันเป็นสิ่งลวงโลก เป็นสิ่งที่ชาวโลกสมมติกันว่าเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าหลงใหลน่าปรารถนา ประมาทในวัย ประมาทในความไม่มีโรค ประมาทในชีวิต เป็นต้น บุคคลผู้ประมาทเช่นนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหน ๆ จะอยู่รวมกับคนทั้งหลายก็ตาม จะอยู่ลำพังคนเดียวก็ตาม ย่อมไม่สามารถพิจารณาธรรมให้เข้าใจถ่องแท้ได้ ไม่สามารถเข้าใจโลกตามความเป็นจริงได้ และย่อมไม่มีทางเลยที่เขาจะสามารถทำลายสังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดได้ ตรงกันข้าม เขาจะตกอยู่ในวังวนของการเวียนเกิดเวียนตายอีกยาวนาน เพราะความประมาทของเขานั่นเอง.

You may also like...