อารักขกัมมัฏฐาน 4 ประการ

อารักขกัมมัฏฐาน หมายถึง กรรมฐานที่ควรรักษาไว้ คือ เป็นกรรมฐานที่ควรเจริญอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาด อีกนัยหนึ่ง หมายถึง กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาตน คือ กรรมฐานเป็นเครื่องคุ้มครองตนให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง

อารักขกัมมัฏฐานนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวบรวมขึ้น โดยมีพระประสงค์จะให้ชาวพุทธมีกรรมฐานไว้ปฏิบัติเพื่อป้องกันและคุ้มครองตนจากโทษภัยต่าง ๆ

อารักขกัมมัฏฐาน มี 4 อย่าง คือ

1. พุทธานุสสติ

พุทธนุสสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า หมายถึง การน้อมจิตระลึกถึงพระพุทธคุณ 9 ประการ ได้แก่

  • อรหัง พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลส
  • สัมมาสัมพุทโธ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
  • วิชชาจรณสัมปันโน ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
  • สุคโต ทรงเป็นผู้ไปดี คือเสด็จไปในที่ใด ๆ ย่อมเสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก
  • โลกวิทู ทรงเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
  • อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ ทรงเป็นผู้ฝึกคนที่ยอดเยี่ยม
  • สัตถา เทวมนุสสานัง ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์
  • พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
  • ภควา ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสำหรับสั่งสอนสรรพสัตว์

2. เมตตา

เมตตา หมายถึง การแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข คือการตั้งความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์และมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยความจริงใจ เพื่อกำจัดโทสะในใจตน และกำจัดความพยาบาทปองร้าย และป้องกันไม่ให้มีความคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น

3. อสุภะ

อสุภะ การพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นของไม่งาม กรรมฐานข้อนี้มีเป้าหมายเพื่อกำจัดราคะ คือความยินดีพอใจในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น พิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม จะได้ไม่เกิดความกำหนัดยินดีในร่างกายอันเต็มไปด้วยของปฏิกูลน่ารังเกียจ

4. มรณัสสติ

มรณัสสติ หรือ มรณสติ คือ การระลึกถึงความตาย หมายถึง การนึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่กำหนดกาลไม่ได้ กำหนดสถานที่ไม่ได้ กำหนดสาเหตุไม่ได้ เรารู้ว่าเราจะต้องตายแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะตายวันไหน จะตายที่ไหน จะตายเพราะอะไร ดังนั้น ต้องรีบสร้างความเพียร ต้องรีบสร้างคุณงามความดีเสียตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ไม่ประมาทในการทำความดี