ธรรมสมาธิ 5 ประการ

ธรรมสมาธิ คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นสนิทในธรรม เป็นธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง กำจัดความสงสัยเสียได้ เมื่อเกิดความมั่นสนิทในธรรมแล้วก็จะเกิดจิตตสมาธิคือความตั่งมั่นของจิตตามมา ธรรมสมาธิมี 5 ประการ คือ

1. ปราโมทย์

ปราโมทย์ ความชื่นบานใจ ความร่าเริงสดใส เป็นความชื่นบานใจในธรรม ความร่าเริงสดใสในธรรม มีความยินดีในการปฏิบัติธรรม ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นข้องใจเกิดขึ้นขัดขวางการปฏิบัติธรรม ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปให้บรรลุผล

2. ปีติ

ปีติ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรม มี 5 ระดับ คือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ และผรณาปีติ

3. ปัสสัทธิ

ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายเย็นใจ ความผ่อนคลายรื่นสบาย ไม่มีความเดือดร้อนกระวนกระวายใจมารบกวนให้หงุดหงิดรำคาญใจ

4. สุข

สุข ความสุข ความสบาย ความรื่นใจไร้ความข้องขัด ปราศจากความทุกข์ร้อนใด ๆ ที่จะมารบกวนขัดขวางให้ไม่อยากปฏิบัติธรรม มีแต่ความสุขสบายกายและใจ ยินดีในการปฏิบัติธรรม

5. สมาธิ

สมาธิ ความสงบตั้งมั่นของจิต ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่วอกแวก ไม่มีอารมณ์ภายนอกมารบกวนให้หงุดหงิดรำคาญใจ

ธรรมทั้ง 5 ประการนี้ เป็นส่วนสนับสนุนให้บุคคลเกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรม มีความแช่มชื่นยินดีในการปฏิบัติธรรมให้เกิดผลสำเร็จ เป็นธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญของจิตใจที่ทุกคนควรทำให้เกิดมีอยู่เสมอ