ภิกษุรื่นรมย์ยินดีในธรรม ใคร่ครวญธรรม และระลึกถึงธรรมอยู่เนืองๆ ฯลฯ

ธมฺมาราโม ธมฺมรโต     ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกฺขุ     สทฺธมฺมา น ปริหายติ.

[คำอ่าน]

ทำ-มา-รา-โม, ทำ-มะ-ระ-โต…..ทำ-มัง, อะ-นุ-วิ-จิน-ตะ-ยัง
ทำ-มัง, อะ-นุด-สะ-รัง, พิก-ขุ…..สัด-ทำ-มา, นะ, ปะ-ริ-หา-ยะ-ติ

[คำแปล]

“ภิกษุรื่นรมย์ยินดีในธรรม ใคร่ครวญธรรม และระลึกถึงธรรมอยู่เนือง ๆ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/65.

ภิกษุ มาจากคำภาษาบาลีว่า ภิกฺขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร หมายเอาบุคคลผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วถือเพศอุปสมบทเป็นภิกษุเพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจกระจ่างแจ้ง และนำไปปฏิบัติตามให้รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสั่งสอนนั้น ๆ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์เข้าถึงสุขอันไพบูลย์คือพระนิพพาน

พระสัทธรรม คือ หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เรียกว่า ปริยัติสัทธรรม ได้แก่ การศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจถ่องแท้เพื่อยึดถือเป็นหลักปฏิบัติและเพื่อนำไปเผยแผ่ต่อไปให้กว้างขวาง

ส่วนที่ 2 เรียกว่า ปฏิบัติสัทธรรม ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่ได้ศึกษาให้เข้าใจมาแล้วในส่วนปริยัติสัทธรรม เพื่อขยายผลของปริยัติสัทธรรมคือการศึกษาเล่าเรียนนั้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ส่วนที่ 3 เรียกว่า ปฏิเวธสัทธรรม ได้แก่ การบรรลุผลจากการปฏิบัติในส่วนปฏิบัติสัทธรรม อันหมายถึงการเข้าถึงมรรคผลและนิพพาน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติตามสมควรแก่ปฏิปทาและบารมีของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ

บุคคลเมื่ออุปสมบทเข้ามาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว พึงเป็นผู้ยินดีในธรรมอันเป็นฝ่ายกุศลทั้งหลาย ระลึกถึงธรรมอยู่เนือง ๆ มีใจฝักใฝ่ในธรรม ใคร่ครวญพิจารณาธรรมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมจะไม่เสื่อมจากพระสัทธรรมทั้ง 3 ประการนั้นอย่างแน่นอน.

You may also like...