ใจสั่งมา

จิตเกื้อกูลที่อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว เป็นจิตหาประมาณมิได้ ฯลฯ

อปฺปมาณํ หิตํ จิตฺตํ     ปริปุณฺณํ สุภาวิตํ
ยํ ปมาณํ กตํ กมฺมํ     น ตํ ตตฺราวสิสฺสติ.

[คำอ่าน]

อับ-ปะ-มา-นัง, หิ-ตัง, จิด-ตัง…..ปะ-ริ-ปุน-นัง, สุ-พา-วิ-ตัง
ยัง, ปะ-มา-นัง, กะ-ตัง, กำ-มัง…..นะ, ตัง, ตัด-ตรา-วะ-สิด-สิ-ติ

[คำแปล]

“จิตเกื้อกูลที่อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว เป็นจิตหาประมาณมิได้ กรรมใดที่ทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้น จักไม่เหลือในจิตนั้น.”

(อรกโพธิสตฺต) ขุ.ชา.ทุก. 27/59.

ธรรมชาติของจิต คือ มักไหลลงสู่ที่ต่ำเหมือนน้ำ รักสุข เกลียดทุกข์ มักแสวงหาอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ ดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ โดยไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษใด ๆ ทั้งสิ้น

พุทศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนอบรมจิตให้เป็นจิตที่เกื้อกูล คือ เป็นจิตที่เกื้อกูลทั้งแก่ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ฝึกจิตให้ประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ฝึกจิตให้ประกอบด้วยกรุณา มีใจอ่อนโยนสงสารปรารถนาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์

นอกจากนี้ พุทธศาสนายังสอนให้พุทธศาสนิกชนฝึกจิตให้บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หมั่นรักษาศีลให้บริบูรณ์เพื่อรักษากิริยามารยาททางกายให้เรียบร้อยดีงาม หมั่นปฏิบัติสมถกรรมฐานเพื่อทำจิตให้มั่นคง และหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อเจริญปัญญาและทำลายกิเลสให้เบาบางลงและหมดไปในที่สุด

ผู้ใดทำได้ดังนี้ ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าได้อบรมจิตให้เป็นจิตที่เกื้อกูลและบริบูรณ์ดี เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว จิตของผู้นั้นเป็นจิตหาประมาณมิได้ ย่อมสามารถตัดกรรมทั้งหลายได้ตามกำลังแห่งความบริบูรณ์ของจิต เมื่อจิตของเขาได้รับการฝึกจนบริบูรณ์เต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ คือสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้แล้ว ย่อมเป็นอันตัดกรรมทั้งปวงเสียได้สิ้นซาก พร้อมทั้งตัดภพตัดชาติได้อย่างบริบูรณ์ ทำลายกองทุกข์และวัฏสงสารได้อย่างสิ้นเชิง.