ใจสั่งมา

เมื่อมีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้พระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ฯลฯ

อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส     สทฺธมฺมํ อวิชานโต
ปริปฺลวปสาทสฺส     ปญฺญา น ปริปูรติ.

[คำอ่าน]

อะ-นะ-วัด-ถิ-ตะ-จิด-ตัด-สะ….สัด-ทำ-มัง, อะ-วิ-ชา-นะ-โต
ปะ-ริบ-ละ-วะ-ปะ-สา-ทัด-สะ…..ปัน-ยา, นะ, ปะ-ริ-ปู-ระ-ติ

[คำแปล]

“เมื่อมีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้พระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/20.

คำว่า มีจิตไม่มั่นคง หมายถึง บุคคลที่ไม่มีความแน่นอน จิตใจวอกแวกหวั่นไหว รวนเร เอาแน่เอานอนไม่ได้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เหมือนกับหลักที่ปักไว้ในกองแกลบหรือในโคลน ย่อมโยกเยกคลอนแคลน ไม่มั่นคง ไม่นานก็ล้มหรือถอนไปตามแรงลม

บุคคลประเภทนี้เป็นคนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวไปเป็นโน่น เดี๋ยวไปเป็นนี่ เดี๋ยวนับถือพุทธศาสนา เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ลักษณะนี้เรียกว่า ผู้มีจิตไม่มั่นคง

คำว่า ไม่รู้พระสัทธรรม หมายถึง ไม่รู้โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันประกอบด้วย สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ มรรคมีองค์ 8

คำว่า มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย คือ มีศรัทธาน้อย หรือมีศรัทธาคลอนแคลนไม่มั่นคง ไม่มีศรัทธา 4 ประการ คือ กัมมสัทธา เชื่อในกรรม วิปากสัทธา เชื่อในผลแห่งกรรม กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน และ ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ปัญญา 4 ประการ คือ ปัญญาที่เป็นกามาวจร ปัญญาที่เป็นรูปาวจร ปัญญาที่เป็นอรูปาวจร และปัญญาที่เป็นโลกุตตระ ของบุคคลนั้นย่อมไม่บริบูรณ์

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีจิตมั่นคงแน่วแน่ในพุทธศาสนา ไม่รวนเร ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้รู้ลึกรู้จริง แล้วนำมาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และฝึกตนให้เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างเคร่งครัด เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญา.