อติจิรํ นิวาเสน ปิโย ภวติ อปฺปิโย

อติจิรํ นิวาเสน ปิโย ภวติ อปฺปิโย.

[คำอ่าน : อะ-ติ-จิ-รัง, นิ-วา-เส-นะ, ปิ-โย, พะ-วะ-ติ, อับ-ปิ-โย]

“เพราะอยู่ด้วยกันนานเกินไป คนที่รักก็มักหน่าย”

(ขุ.ชา.เตรส. 27/347)

การอยู่ด้วยกันนั้น มีหลายสถานะ เช่น อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว อยู่ด้วยกันแบบสามีภรรยา หรืออยู่ด้วยกันในสถานะอื่น ๆ เช่น เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

การที่คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นส่วนมากนั้น ย่อมจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในกันและกันได้ เป็นเรื่องธรรมดา

เพื่อนที่อยู่ด้วยกัน อาจจะเบื่อหน่ายกัน แล้วเลิกคบกันไปก็เป็นได้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกัน เห็นหน้ากันทุกวัน อาจจะเกิดความเบื่อหน่าย สุดท้ายอาจเลิกรากันไปก็เป็นได้

ธรรมะที่จะนำมาใช้ในการป้องกันความเบื่อหน่ายกันนี้ เรียกว่า สังคหวัตถุธรรม มี 4 อย่าง คือ

  1. ทาน รู้จักแบ่งปันกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
  2. ปิยวาจา พูดจากันด้วยความไพเราะอ่อนหวาน จริงใจต่อกัน
  3. อัตถจริยา ต่างฝ่ายต่างสร้างประโยชน์ให้กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  4. สมานัตตตา วางตนเป็นกันเอง เป็นมิตรต่อกัน ไม่เย่อหยิ่งจองหอง

ถ้าทำได้ดังนี้ จะทำให้ป้องกันความคลางแคลงแหนงหน่ายกันได้