โสรัจจะ และอวิหิงสานั้น เป็นช้างเท้าหลัง สติและสัมปชัญญะนั้น เป็นช้างเท้าหน้า

โสรจฺจํ อวิหึสา จ     ปาทา นาคสฺส เต ทุเว
สติ จ สมฺปชญฺญญฺจ     จรณา นาคสฺส เต ปเร.

[คำอ่าน]

โส-รัด-จัง, อะ-วิ-หิง-สา, จะ…..ปา-ทา, นา-คัด-สะ, เต, ทุ-เว
สะ-ติ, จะ, สำ-ปะ-ชัน-ยัน-จะ..…จะ-ระ-นา, นา-คัด-สะ, เต, ปะ-เร

[คำแปล]

“โสรัจจะ และอวิหิงสานั้น เป็นช้างเท้าหลัง สติและสัมปชัญญะนั้น เป็นช้างเท้าหน้า.”

(อุทายีเถร) ขุ.เถร. 26/368.

สติ คือ ความระลึกได้ หมายถึง การฉุกคิดขึ้นได้ก่อนที่จะทำ พูด หรือคิดอะไร หรือความมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ พูด หรือคิด ทำให้เรารู้อยู่เสมอว่า เราจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร หรือเรากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร สติจึงเป็นตัวกำกับอย่างดีไม่ให้เราเผลอทำผิด พูดผิด หรือคิดผิด

สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือรู้ชัดแจ้งตามความเป็นจริง เข้าใจชัดเจนในสิ่งที่สติระลึกได้ ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นต้น เมื่อเรารู้ชัดว่าสิ่งที่เรากำลังทำ พูด คิด เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เราก็จะสามารถทำสิ่งที่ถูกต้อง และยับยั้งการทำ พูด คิด ที่ผิดทำนองคลองธรรมเสียได้

สติและสัมปชัญญะนี้เป็นปราการด่านแรกที่จะรับหน้ากับข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย ท่านจึงเปรียบสติและสัมปชัญญะเป็นเหมือนช้างเท้าหน้า

โสรัจจะ คือ ความเสงี่ยม ได้แก่ การรักษากิริยาอาการภายนอกให้สง่างามสงบเสงี่ยมอยู่ได้ แม้ต้องเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น มีคนมาพูดหรือมาทำอะไรให้ต้องเจ็บใจ ก็สามารถระงับอาการเจ็บใจนั้นไว้ได้ ไม่แสดงออกมาทางสีหน้าหรือท่าทาง

อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน การไม่มีความคิดกระทบกระทั่งใคร ๆ ด้วยความโกรธ ไม่คิดทำลายหรือทำร้ายใคร ๆ ให้ได้รับความเดือดร้อน

โสรัจจะและอวิหิงสานี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะบุคคลมีสติและสัมปชัญญะเป็นปราการด่านแรกก่อน คือเมื่ออารมณ์ทั้งหลายมากระทบ สติและสัมปชัญญะจะเป็นตัวต้านทาน ทำให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น มีความสามารถในการยั้งคิดพิจารณา สามารถสงบอารมณ์ได้ ก่อให้เกิดโสรัจจะและอวิหิงสาตามมา ดังนั้นท่านจึงเปรียบโสรัจจะและอวิหิงสาเป็นช้างเท้าหลัง.