น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ

น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ.

[คำอ่าน : นะ, ตัง, ชิ-ตัง, สา-ทุ, ชิ-ตัง, ยัง, ชิ-ตัง, อะ-วะ-ชิย-ยะ-ติ]

“ความชนะใดที่ชนะแล้วกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นไม่ดี”

(ขุ.ชา.เอก. 27/22)

การทำศึกสงครามก็ตาม การแข่งขันใด ๆ ก็ตาม การชิงดีชิงเด่นกันก็ตาม ทั้งหมดนั้นย่อมมีการแพ้มีการชนะเกิดขึ้น แต่ชัยชนะที่ได้มาจากสิ่งเหล่านั้นเป็นชัยชนะที่ไม่แน่นอน สามารถกลับแพ้ได้อีก

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะไปแล้ว ฝ่ายที่แพ้ย่อมคิดจะเอาคืนอยู่ทุกเมื่อ ย่อมมีการฝึกปรือฝึกฝน หากลยุทธ์ที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อศักดิ์ศรี หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่เขาจะห้ำหั่นกัน แข่งขันกัน ชิงดีชิงเด่นกันอยู่แบบนี้ร่ำไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการก่อเวรกันไปในตัว เป็นการจองเวรจองกรรมกันไม่รู้จักจบสิ้น ฝ่ายนั้นแพ้บ้าง ฝ่ายนี้ชนะบ้าง ฝ่ายนี้แพ้บ้าง ฝ่ายนั้นชนะบ้าง กลับไปกลับมา เป็นอยู่อย่างนี้ หาความสุขมิได้ จองเวรจองกรรม จ้องทำลายกัน จ้องชิงชัยกันอยู่ไม่หยุดหย่อน

พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญการชิงชัยเอาชนะกันในลักษณะเช่นนี้ แต่ทรงสรรเสริญการปฏิบัติขัดเกลาตนเพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาเป็นอันตัวพาให้ทุกข์ ซึ่งเป็นชัยชนะที่ประเสริฐ เป็นชัยชนะที่ไม่ก่อเวร และเป็นชัยชนะที่ไม่กลับแพ้อีก