กเรยฺย วากฺยํ อนุกมฺปกานํ “ควรทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดู”

กเรยฺย วากฺยํ อนุกมฺปกานํ.

[คำอ่าน : กะ-ไร-ยะ, วาก-กะ-ยัง, อะ-นุ-กำ-ปะ-กา-นัง]

“ควรทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดู”

(ขุ.ชา.ทสก. 27/272)

คำว่า “ผู้เอ็นดู” หมายถึง ผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อเรา มีความสงสารเรา อยากให้เราพ้นจากทุกข์ อยากให้เราได้ดี อยากให้เราประสบสิ่งที่ดี ประสบความสำเร็จ และไม่คิดร้ายต่อเรา

ตัวอย่างของบุคคลผู้เอ็นดูก็เช่น พ่อแม่ ที่มีแต่ความรักความปรารถนาดีให้กับเราอย่างไม่มีเงื่อนไข ครูอาจารย์ ผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนวิชาให้เรา อยากให้เรามีความรู้ มีความเจริญก้าวหน้า เป็นต้น

เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีความเอ็นดู มีความปรารถนาดีต่อเรา ก็ย่อมแนะนำเราแต่ในทางที่ดี มีประโยชน์ ไม่มีใครเลยที่รักใคร่เอ็นดูใครสักคนหนึ่งด้วยความจริงใจ แล้วจะแนะนำให้เขาทำความชั่วทั้งหลาย มีแต่จะแนะนำสิ่งที่เป็นความดี เป็นทางแห่งความสุขความเจริญเท่านั้น

ดังนั้น การทำตามคำแนะนำของบุคคลผู้เอ็นดูเหล่านั้น ย่อมจะก่อประโยชน์ให้เราโดยแน่แท้

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมองคนให้ออกด้วย ว่าคนที่เขาแนะนำเรานั้น เขาเอ็นดูเราจริงหรือไม่ เขามีความจริงใจต่อเราหรือไม่ เขามีความปรารถนาดีต่อเราจริง ๆ หรือไม่ หรือว่าแค่เสแสร้งแกล้งทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเขามีความจริงใจต่อเราอย่างแท้จริง จึงค่อยทำตามคำของเขา จะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง