โทโส โกธสมุฏฺฐาโน “โทสะ มีความโกรธเป็นสมุฏฐาน”

โทโส โกธสมุฏฺฐาโน.

[คำอ่าน : โท-โส, โก-ทะ-สะ-มุด-ถา-โน]

“โทสะ มีความโกรธเป็นสมุฏฐาน”

(ขุ.ชา.ทสก. 27/273)

โทสะ คือ ความประทุษร้าย หมายถึง อารมณ์ที่ประทุษร้ายจิตใจของเราให้เศร้าหมองร้อนรุ่ม เมื่ออารมณ์นั้นประทุษร้ายจิตของเราให้ร้อนรุ่มแล้ว ก็มีผลต่อไปถึงการประทุษร้ายคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โทสะ มีสาเหตุหลักมาจากความโกรธ

ก่อนที่จะเป็นโทสะนั้น ความโกรธเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมา ก็ก่อให้เกิดโทสะขึ้นมาตามกันมาติด ๆ เมื่อโทสะเกิดขึ้นมา ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้น ๆ กระทำการอันเป็นการประทุษร้าย ทำร้ายคนอื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน

ดังนั้น หากต้องการป้องกันโทสะอันเป็นตัวกิเลสร้าย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การป้องกันมิให้ความโกรธเกิดขึ้น เพราะเมื่อไม่มีความโกรธเสียแล้ว โทสะก็ไม่เกิดขึ้นได้เลย เพราะโทสะมีสมุฏฐานคือแหล่งกำเนิดมาจากความโกรธ

การที่จะป้องกันความโกรธได้นั้น เราควรเจริญเมตตาบ่อย ๆ ฝึกแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝึกจิตให้มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นให้มาก ๆ มองโลกในแง่บวก ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น เช่นนี้ จะทำให้ป้องกันความโกรธได้ เพราะมีจิตประกอบด้วยเมตตานั่นเอง