ธาตุกัมมัฏฐาน 6 ประการ

ธาตุกัมมัฏฐาน คือ กรรมฐานที่มีธาตุเป็นอารมณ์ กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ คือกำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุแต่ละอย่าง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา จัดเป็นธาตุกัมมัฏฐาน 4 บ้าง ธาตุกัมมัฏฐาน 6 บ้าง ตามธาตุ 4 และธาตุ 6 ในที่นี้หมายเอาธาตุ 6 ที่เป็นส่วนของร่างกาย คือ

1. ปฐวีธาตุ

ปฐวีธาตุ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ที่มีอยู่ในร่างกาย ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

2. อาโปธาตุ

อาโปธาตุ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบ เหลว ที่มีอยู่ในร่างกาย ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

3. เตโชธาตุ

เตโชธาตุ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ให้ความอบอุ่น ที่มีอยู่ในร่างกาย ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

4. วาโยธาตุ

วาโยธาตุ ธาตุที่มีลักษณะพัดไปมา ที่อยู่ในร่างกาย ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

5. อากาสธาตุ

อากาสธาตุ ธาตุที่มีลักษณะเป็นช่องว่าง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์ เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องทวารหนัก ทวารเบา ช่องแห่งอวัยวะทั้งหลาย หรือที่อื่นใดที่มีลักษณะเป็นช่องว่างอย่างเดียวกันนี้

6. วิญญาณธาตุ

วิญญาณธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะเป็นเครื่องรู้แจ้งอารมณ์ กล่าวคือ วิญญาณธาตุ 6 อันประกอบด้วย

  • จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางตา
  • โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางหู
  • ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก
  • ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น
  • กายวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางกาย
  • มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ทางใจ

ผู้จะเจริญธาตุกัมมัฏฐาน 6 พึงพิจารณากำหนดธาตุ 6 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง