พึงขจัดตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่นทั้งปวง ทั้งเบื้องสูง เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ฯลฯ

อาทานตณฺหํ วินเยถ สพฺพํ
อุทฺธํ อโธ ติริยํ วาปิ มชฺเฌ
ยํ ยํ หิ โลกสฺมึ อุปาทิยนฺติ
เตเนว มาโร อนฺเวติ ชนฺตํุ.

[คำอ่าน]

อา-ทา-นะ-ตัน-หัง, วิ-นะ-เย-ถะ, สับ-พัง
อุด-ทัง, อะ-โท, ติ-ริ-ยัง, วา-ปิ, มัด-เช
ยัง, ยัง, หิ, โล-กัด-สะ-หมิง, อุ-ปา-ทิ-ยัน-ติ
เต-เน-วะ, มา-โร, อัน-นะ-เว-ติ, ชัน-ตุง

[คำแปล]

“พึงขจัดตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่นทั้งปวง ทั้งเบื้องสูง เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ท่ามกลาง เพราะเขาถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลกไว้ มารย่อมติดตามเขาไปเพราะสิ่งนั้น ๆ.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/546, ขุ.จู. 30/202.

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 อย่าง คือ

  1. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ
  2. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ คือ ความอยากมีอยากเป็น
  3. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือ ความพอใจในความไม่มีไม่เป็นต่าง ๆ

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เสาะแสวงหาอารมณ์ที่น่าปรารถนาเพื่อให้ได้มาครอบครอง กระเสือกกะสนดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่าง ๆ เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียพลัดพลากสิ่งที่รักที่ชอบใจก็เป็นทุกข์ โศกเศร้าเสียใจ พิไรรำพัน วนอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้เป็นตัวการที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้สาวกทั้งหลายพยายามกำจัดตัณหาเหล่านั้นให้หมดไปจากจิตจากใจ เพราะตัณหาเหล่านั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น และเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น มารคือกิเลสที่คอยขัดขวางทำลายคุณงามความดีก็จะคอยราวีอยู่ร่ำไป ทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขได้.