ใจสั่งมา

ท่านผู้ดับไปแล้ว (คือปรินิพพานแล้ว) ไม่มีประมาณ ฯลฯ

อตฺถงฺคตสฺส น ปมาณมตฺถิ
เยน นํ วชฺชุ ตํ ตสฺส นตฺถิ
สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ
สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ.

[คำอ่าน]

อัด-ถัง-คะ-ตัด-สะ, นะ, ปะ-มา-นะ-มัด-ถิ
เย-นะ, นัง, วัด-ชุ, ตัง, ตัด-สะ, นัด-ถิ
สับ-เพ-สุ, ทำ-เม-สุ, สะ-มู-หะ-เต-สุ
สะ-มู-หะ-ตา, วา-ทะ-ปะ-ถา-ปิ, สับ-เพ

[คำแปล]

“ท่านผู้ดับไปแล้ว (คือปรินิพพานแล้ว) ไม่มีประมาณ จะพึงกล่าวถึงท่านด้วยเหตุใด เหตุนั้นของท่านก็ไม่มี เมื่อธรรมทั้งปวง (มีขันธ์เป็นต้น) ถูกเพิกถอนแล้ว แม้คลองแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึง (ว่าผู้นั้นเป็นอะไร) ก็เป็นอันถูกเพิกถอนเสียทั้งหมด.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/539, ขุ.จู. 30/139.

คำว่า “นิพพาน” แปลว่า ดับ หมายถึง ดับกิเลสได้สิ้นเชิง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับชาติ ชรา มรณะ ได้อย่างสิ้นเชิง ดับสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง

บุคคลผู้เข้าถึงนิพานแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด คือไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว ธรรมทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้นของท่านเหล่านั้นก็ดับหมดสิ้นแล้ว หมดกิเลส หมดเชื้อ หมดยางที่จะทำให้กลับมาเกิดอีก

ท่านผู้เข้าถึงนิพพานได้แล้วนั้น หาประมาณมิได้ คือมีจำนวนมหาศาล ไม่สามารถจะนับได้ ไม่จำต้องคิดคำนวณว่ามีประมาณเท่าใด อีกอย่างหนึ่ง ท่านเหล่านั้นเข้าถึงความไม่มีไม่เป็นอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุที่จะต้องกล่าวถึงว่า ท่านเหล่านั้นเป็นอะไร อยู่ที่ไหน เป็นต้น

หน้าที่ของเราทั้งหลาย ไม่ใช่การมาคิดคำนวณว่า ผู้เข้าถึงนิพพานแล้วมีจำนวนเท่าใด หรือท่านเหล่านั้นเมื่อนิพพานแล้วไปเป็นอะไร ไปอยู่ที่ไหน เป็นต้น เพราะเป็นเรื่องพ้นวิสัยของปุถุชน แต่หน้าที่ของเราคือ พยายามประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตให้ได้เร็วที่สุด.