ใจสั่งมา

ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะเห็นอรรถแจ่มแจ้งได้ด้วยปัญญา ฯลฯ

โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ     ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ
ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพานํ     วิโมกฺโข โหติ เจตโส.

[คำอ่าน]

โย-นิ-โส, วิ-จิ-เน, ทำ-มัง….ปัน-ยา-ยัด-ถัง, วิ-ปัด-สะ-ติ
ปัด-โช-ตัด-เส-วะ, นิบ-พา-นัง….วิ-โมก-โข, โห-ติ, เจ-ตะ-โส

[คำแปล]

“ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะเห็นอรรถแจ่มแจ้งได้ด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งใจย่อมมี เหมือนไฟดับ.”

(พุทฺธ) องฺ.สตฺตก. 23/4.

คำว่า “ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย” หมายถึง การเลือกหัวข้อธรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลหรือเหตุการณ์โดยการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น แก้นิสัยคนตระหนี่ด้วยการปลูกฝังให้ยินดีในการบริจาคให้ปันสิ่งของ แก้นิสัยคนมักโกรธโมโหร้ายด้วยการปลูกฝังให้แผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์บ่อย ๆ เป็นต้น

ธรรมะที่พระพุทธเจ้านำมาสั่งสอนสาวกทั้งหลายนั้น มีมากมายหลายหลาก ธรรมะบางข้อไม่เหมาะกับจริตของบุคคลบางคน ในมุมของการปฏิบัติธรรม ถ้าอาจารย์ผู้สอนธรรมหรือผู้สอนกรรมฐานไม่รู้จริตของลูกศิษย์ แนะนำไม่ถูก ให้ปฏิบัติธรรมที่ไม่เหมาะแก่จริตหรืออุปนิสัยของลูกศิษย์นั้น การปฏิบัติก็จะไม่ได้ผล

ถ้าอาจารย์ผู้สอนกรรมฐานรู้จักจริตของลูกศิษย์ สามารถแนะนำให้ปฏิบัติธรรมตามจริตหรืออุปนิสัยของเขาได้ การปฏิบัติธรรมย่อมได้ผลดี สามารถเข้าถึงผลสูงสุดแห่งการปฏิบัติได้

ดังนั้น การเลือกเฟ้นธรรมสำหรับการปฏิบัติให้เหมาะกับจริตหรืออุปนิสัยของบุคคลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกกับจริตของตนแล้ว การปฏิบัติย่อมได้ผลดี สามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เข้าถึงความหลุดพ้นได้ในที่สุด.