ใจสั่งมา

ผู้ใดฟังธรรมแม้น้อย ย่อมเห็นธรรมด้วยกาย ฯลฯ

โย จ อปฺปมฺปิ สุตฺวาน     ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ
ส เว ธมฺมธโร โหติ     โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ.

[คำอ่าน]

โย, จะ, อับ-ปำ-ปิ, สุด-ตะ-วา-นะ…..ทำ-มัง, กา-เย-นะ, ปัด-สะ-ติ
สะ, เว, ทำ-มะ-ทะ-โร, โห-ติ….โย, ทำ-มัง, นับ-ปะ-มัด-ชะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้ใดฟังธรรมแม้น้อย ย่อมเห็นธรรมด้วยกาย ผู้ใดไม่ประมาทธรรม ผู้นั้นแล ชื่อว่าผู้ทรงธรรม.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/49.

คำว่า “ฟังธรรมแม้น้อย ย่อมเห็นธรรมด้วยกาย” หมายถึง แม้จะฟังธรรมไม่มาก ได้ฟังธรรมเพียงบางบท แต่ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของธรรมที่ได้ฟังนั้นอย่างลึกซึ่ง สามารถพิจารณาวินิจฉัยธรรมข้อนั้น ๆ ได้ถูกต้อง

คำว่า “ไม่ประมาทธรรม” คือ มีความสำรวมกาย วาจา ใจ หมั่นชำระบาปอกุศลที่มีอยู่ในใจให้หมดไป หมั่นสร้างคุณงามความดีอยู่เสมอ และเพียรรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่ให้คงอยู่ตลอดไปมิให้เสื่อม นำธรรมะที่ได้ฟังมาและพิจารณาวินิจฉัยจนเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วนั้นมาปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริงและเคร่งครัด

บุคคลผู้มีคุณสมบัติ 2 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นนั้น คือ เห็นธรรมด้วยกาย และไม่ประมาทธรรม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม คือทั้งรู้ธรรมะอย่างถ่องแท้และนำมาปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง.