ใจสั่งมา

ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ สุข อันเป็นทิพย์ ผู้นั้น พึงงดเว้นบาป ฯลฯ

โย อิจฺเฉ ทิพฺพโภคญฺจ     ทิพฺพมายํุ ยสํ สุขํ
ปาปานิ ปริวชฺเชตฺวา     ติวิธํ ธมฺมมาจเร.

[คำอ่าน]

โย, อิด-เฉ, ทิบ-พะ-โพ-คัน-จะ….ทิบ-พะ-มา-ยุง, ยะ-สัง, สุ-ขัง
ปา-ปา-นิ, ปะ-ริ-วัด-เชด-ตะ-วา….ติ-วิ-ทัง, ทำ-มะ-มา-จะ-เร

[คำแปล]

“ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ สุข อันเป็นทิพย์ ผู้นั้น พึงงดเว้นบาปทั้งหลาย แล้วประพฤติสุจริตธรรม 3 อย่าง.”

(ราชธีตา) ขุ.ชา.มหา. 28/306.

สิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายปรารถนามากที่สุดก็คือโภคทรัพย์ อายุ ยศ และความสุข

การมีโภคทรัพย์มาก จับจ่ายใช้สอยคล่องตัวไม่ฝืดเคือง มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้ ไม่มีหนี้ ย่อมทำให้เกิดความสุข

การมีอายุที่ยืนยาว มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ไม่เจ็บป่วยออดออดแอดแอด ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความสุข

การมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง มีเกียรติยศชื่อเสียง ผู้คนยกย่องนับถือ ไปที่ไหนมีคนห้อมล้อมสรรเสริญ ก็เป็นสาเหตุแห่งความสุขเช่นกัน

โภคทรัพย์ อายุ ยศ และความสุข ที่บุคคลได้รับในโลกนี้ ถือเป็นโภคทรัพย์ธรรมดาสามัญ เป็นอายุ ยศ และสุข อย่างธรรมดาสามัญ

โภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุข ยังมีอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า โภคทรัพย์อันเป็นทิพย์ อายุอันเป็นทิพย์ ยศอันเป็นทิพย์ สุขอันเป็นทิพย์ เป็นสิ่งที่บุคคลจะสามารถได้รับในโลกสวรรค์หลังจากตายตากโลกนี้ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โภคทรัพย์ อายุ ยศ และความสุข ทั้งสองประเภทดังกล่าวแล้ว จะเกิดมีขึ้นแก่บุคคลได้ก็ด้วยการงดเว้นจากบาปอกุศลทั้งหลาย และประพฤติสุจริตธรรม 3 ประการ คือ

  1. กายสุจริต เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เว้นจากการลักทรัพย์ของคนอื่น เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  2. วจีสุจริต เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
  3. มโนสุจริต ไม่โลกอยากได้ของของคนอื่น ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น มีความเห็นถูกต้องตามธรรม

หากบุคคลสามารถละบาปอกุศลทั้งปวง และประพฤติสุจริตธรรม 3 ประการดังกล่าวแล้วได้ การประพฤติเช่นนั้นย่อมเป็นอานิสงส์ให้เขาได้รับโภคทรัพย์ อายุ ยศ และความสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.