จงเด็ดเยื่อใยของตนเสีย เหมือนเอาฝ่ามือเด็ดบัวในฤดูแล้ง ฯลฯ

อุจฺฉินฺท สิเนหมตฺตโน
กุมุทํ สารทิกํว ปาณินา
สนฺติมคฺคเมว พฺรูหย
นิพฺพานํ สุคเตน เทสิตํ.

[คำอ่าน]

อุด-ฉิน-ทะ, สิ-เน-หะ-มัด-ตะ-โน
กุ-มุ-ทัง, สา-ระ-ทิ-กัง-วะ, ปา-นิ-นา
สัน-ติ-มัก-คะ-เม-วะ, พรู-หะ-ยะ
นิบ-พา-นัง, สุ-คะ-เต-นะ, เท-สิ-ตัง

[คำแปล]

“จงเด็ดเยื่อใยของตนเสีย เหมือนเอาฝ่ามือเด็ดบัวในฤดูแล้ง จงเพิ่มพูนทางสงบ (ให้ถึง) พระนิพพานที่พระสุคตแสดงแล้ว.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/53.

คำว่า “เยื่อใย” หมายถึง ความรักใคร่เยื่อใยในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่น่าพอใจ

สัตว์โลกทั้งหลายย่อมหลงยึดติดอยู่ในกามคุณทั้งห้านั้น มีเยื่อใยในกามคุณเหล่านั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดได้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้อย่างยาวนาน ต้องทนทุกข์ทรมานไม่จบสิ้น เพราะตัดเยื่อใยในกามคุณเหล่านั้นไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เหล่าสาวกพิจารณาเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และความไร้ตัวตน ของสิ่งทั้งหลาย แล้วคลายเยื่อใยความพอใจกำหนัดในสิ่งเหล่านั้นเสียให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นอันจะเป็นการเปิดช่องให้มารคือกิเลสเข้ามาขัดขวางคุณธรรมความดีไม่ให้เกิด และทำลายคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงแนะนำให้เหล่าสาวกดำเนินตามทางอันประเสริฐคืออริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นหนทางเข้าสู่ความสงบระงับจากกิเลสตัณหาทั้งปวง เพื่อเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากทุกข์ใหญ่ในวัฏสงสารได้อย่างแท้จริง.