สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ

สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ.

[คำอ่าน : สับ-พัง, เพ-ทะ-ปะ-ริ-ยัน-ตัง, เอ-วัง, มัด-จา-นะ, ชี-วิ-ตัง]

“ชีวิตของสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด”

(ที.มหา. 10/141, ขุ.มหา. 29/145)

ธรรมดาภาชนะที่ทำขึ้นจากดิน ย่อมไม่มีความคงทนถาวร ใช้การได้ไม่นาน สุดท้ายย่อมแตกสลายไปในที่สุด ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น

ชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้

เมื่อถึงเวลาอันควร ร่างกายของคนและสัตว์ก็ต้องผุพัง คร่ำคร่า ชราภาพลงไป แล้วก็แตกสลายไปในที่สุด

เมื่อชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เราควรเร่งรีบสร้างคุณงามความดีเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเร่งปฏิบัติตนเพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะเป็นการดีที่สุด