ยํ เวรํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ “เวรของผู้จองเวร ย่อมไม่ระงับ”

ยํ เวรํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ.

[คำอ่าน : ยัง, เว-รัง, อุ-ปะ-ไน-หัน-ติ, เว-รัง, เต-สัง, นะ, สำ-มะ-ติ]

“เวรของผู้จองเวร ย่อมไม่ระงับ”

(ม.อุป. 14/297, ขุ.ธ. 25/15, ขุ.ชา.ปญฺจก. 27/182)

คำว่า จองเวร ก็คือ การจองล้างจองผลาญกัน ได้แก่ การที่บุคคล 2 ฝ่าย หรือมากกว่านั้น ต่างมุ่งที่จะทำลายกัน มุ่งสร้างความฉิบหายให้แก่กัน นี่เรียกว่า จองเวร

เมื่อต่างฝ่ายต่างจองเวรกันอยู่อย่างนี้ คอยจองล้างจองผลาญกันอยู่อย่างนี้ ฝ่ายหนึ่งชนะแล้วอีกฝ่ายก็ไม่ยอม คอยจ้องจะเอาคืนอยู่เสมอ ปองร้ายล้างผลาญกันไปมา เวรก็ไม่จบไม่สิ้นเสียที

แต่เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย พิจารณาเห็นโทษที่เกิดจากการจองเวรกันไม่รู้จบสิ้น แล้วเลิกจองเวรกันเสียได้ หันมามีเมตตาจิตต่อกัน หรืออย่างน้อยก็เลิกทำลายล้างกัน

เมื่อนั้น สันติสุขย่อมจะเกิดขึ้นเพราะไม่ต้องคอยทำลายล้างกันอีกต่อไป เวรของเขาย่อมสงบระงับลงเสียได้ด้วยอาการอย่างนี้