สัทธา (ศรัทธา) 4 ประการ

สัทธา หรือ ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อที่ผ่านการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลแล้วจึงตกลงใจเชื่อ มี 4 ประการ คือ

1. กัมมสัทธา

กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

2. วิปากสัทธา

วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว ไม่มีกรรมหรือการกระทำใดเลยที่ไม่มีผล ผู้ทำกรรมดีจักได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วจักได้รับผลชั่ว

3. กัมมัสสกตาสัทธา

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของแห่งกรรม จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน ไม่ว่าผู้ใดทำกรรมเช่นใดไว้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ ด้วยตนเองอย่างแน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลง

4. ตถาคตโพธิสัทธา

ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง มีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่มีวันเปลี่ยนไปนับถือศาสดาอื่นนอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า