สพฺเพสํ สหิโต โหติ สทฺธมฺเม สุปติฏฺฐิโต

สพฺเพสํ สหิโต โหติ สทฺธมฺเม สุปติฏฺฐิโต.

[คำอ่าน : สับ-เพ-สัง, สะ-หิ-โต, โห-ติ, สัด-ทำ-เม, สุ-ปะ-ติด-ถิ-โต]

“ผู้ตั้งมั่นในสัทธรรม เป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนทั้งปวง”

(องฺ.อฏฺฐก. 23/249)

ผู้ที่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม คือผู้ประพฤติตามธรรมอยู่เสมอ เป็นคนที่เว้นกรรมหยาบทั้งหลายทั้งปวง หมั่นสร้างคุณงามความดี และชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสอยู่เสมอ

บุคคลผู้ตั้งมั่นในพระสัทธรรมดังกล่าว เมื่อประพฤติตามธรรมอยู่เป็นนิตย์อย่างนั้น ย่อมไม่เบียดเบียนคนอื่น สร้างประโยชน์ให้ตนเองและสังคม ทำให้เกิดความสงบร่มเย็นในสังคม

นอกจากจะประพฤติตนอยู่ในธรรมด้วยตนเองแล้ว เขายังสามารถแนะนำพร่ำสอนคนอื่นให้ตั้งมั่นในพระสัทธรรมตามได้อีกด้วย จึงนับได้ว่า คนที่มีหลักธรรมประจำใจ ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะการตั้งมั่นอยู่ในธรรมของเขา เป็นการสร้างกุศลคุณงามความดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และในขณะเดียวกัน เขาย่อมไม่ทำตัวให้เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น และยังสามารถอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสัทธรรมนั้นได้อีกด้วย