สัตว์ทั้งหลาย ย่อมต้องการความสุข ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่อตน ฯลฯ

สุขกามานิ ภูตานิ     โย ทณฺเฑน น หึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน     เปจฺจ โส ลภเต สุขํ.

[คำอ่าน]

สุ-ขะ-กา-มา-นิ, พู-ตา-นิ…..โย, ทัน-เด-นะ, นะ, หิง-สะ-ติ
อัด-ตะ-โน, สุ-ขะ-เม-สา-โน…..เปด-จะ, โส, ละ-ภะ-เต, สุ-ขัง

[คำแปล]

“สัตว์ทั้งหลาย ย่อมต้องการความสุข ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/32.

ขึ้นชื่อว่าความสุข ใคร ๆ ก็ต้องการทั้งนั้น มนุษย์ก็ต้องการ สัตว์เดรัจฉาจก็ต้องการ เราก็ต้องการ คนอื่น ๆ เขาก็ต้องการ สัตว์โลกทั้งหลายต่างดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขความสบายให้ตนเอง

แต่บางครั้ง การดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขเพื่อตนนั้น ก็กลับกลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้คนอื่น โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง นั่นเป็นเพราะโดยธรรมชาติแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขให้ตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น

พูดถึงเรื่องการแสวงหาความสุข สำหรับชาวโลกทั้งหลายนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง เพราะทรัพย์สินเงินทอง เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นที่ต้องการของชาวโลก ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและความสุขสบายให้ ต้องแลกมาด้วยทรัพย์สินเงินทอง จึงสามารถกล่าวได้ว่า ทรัพย์สินเงินทอง เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่สำคัญมากสำหรับชาวโลก

เมื่อทรัพย์สินเงินทองมีความสำคัญต่อความสุขดังกล่าว มนุษย์เราจึงพากันดิ้นรนแสวงหาทรัพย์สินเงินทองนั้นมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองให้ได้มาก ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากการแสวงหานั้นเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

แต่ที่เป็นปัญหาคือ บางคนแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง แสวงหาความสุขให้ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น บางทีก็เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ เพื่อความสุขของตนเอง เช่น การประกอบอาชีพทุจริต การฉ้อโกงผู้อื่น การเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เป็นต้น

การแสวงหาดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการแสวงหาที่ผิดศีลธรรม เป็นการหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น บัณฑิตไม่สรรเสริญ และติเตียนเป็นอย่างมาก เพราะการแสวงหาความสุขเพื่อตนเองแต่สร้างทุกข์ให้แก่ผู้อื่นนั้น เป็นการสร้างความสุขที่ก่อทุกข์ให้ในตัว

กล่าวคือ ถึงแม้การแสวงหานั้นจะสร้างความสุขให้ตนเองในขณะนั้น แต่มันเป็นการสร้างทุจริตกรรมอันจะก่อทุกข์ก่อโทษให้ตนเองในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น

โจรที่แสวงหาทรัพย์สินด้วยการปล้นชิงวิ่งราว หัวขโมยที่แสวงหาทรัพย์สินด้วยการเที่ยวขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ถึงแม้การกระทำนั้นจะทำให้ตนเองได้ทรัพย์สินมา ทำให้มีความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ในขณะนั้น แต่ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะต้องคอยหลบซ่อนหลบหนี กลัวตำรวจจับ ถ้าถูกตำรวจจับได้ก็ต้องไปรับโทษในคุก ได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ตายไปก็ต้องได้รับความทุกข์ทรมานตามกฎแห่งกรรมอีก

ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เช่น ฆ่าวัวฆ่าหมูเพื่อเอาเนื้อมาขาย เป็นต้น ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้ตนได้รับทรัพย์สินเงินทองมาเป็นค่าตอบแทน มีความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ในขณะนั้นก็จริงอยู่ แต่การกระทำนั้นก็เป็นการก่อทุจริตกรรม มีวิบากเป็นทุกข์ในสัมปรายภพ คือเมื่อตายไปแล้วต้องตกนรก เมื่อชดใช้กรรมในนรกแล้วมาเกิดชาติใหม่ ถ้าเศษแห่งกรรมนั้นยังเหลืออยู่ ก็ยังต้องชดใช้ต่อไปอีกจนกว่าเศษกรรมนั้นจะหมด ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุก่อทุกข์ก่อโทษให้ทั้งสิ้น

ดังนั้น เราท่านทั้งหลายพึงระลึกไว้เสมอว่า ตัวเราเองรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน แล้วพยายามเว้นกรรมชั่วประกอบกรรมดี การประกอบอาชีพทั้งหลายก็ให้เป็นไปโดยสุจริต อย่าได้เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นให้ต้องเป็นทุกข์ เพียงเพื่อความสุขของตนเอง เพราะมันไม่คุ้ม

ผู้ที่แสวงหาความสุขโดยที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นให้ต้องเป็นทุกข์เท่านั้น จึงจะได้รับความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่ไม่ก่อทุกข์ให้ในอนาคต คือสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต สุขทั้งในภพนี้และภพหน้า.