ใจสั่งมา

ถ้าบุรุษจะพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ ฯลฯ

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา     กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ     สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.

[คำอ่าน]

ปุน-ยัน-เจ, ปุ-ริ-โส, กะ-ยิ-รา….กะ-ยิ-รา-เถ-นัง, ปุ-นับ-ปุ-นัง
ตำ-หิ, ฉัน-ทัง, กะ-ยิ-รา-ถะ……สุ-โข, ปุน-ยัด-สะ, อุด-จะ-โย

[คำแปล]

“ถ้าบุรุษจะพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น การสั่งสมบุญนำความสุขมาให้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/30.

บุญ มีความหมายว่า เต็ม คือ ทำบารมีของผู้กระทำบุญให้เต็มเปี่ยมขึ้นตามลำดับ อย่างหนึ่ง มีความหมายว่า ชำระ คือ ชำระความโลภและความตระหนี่ออกจากจิตใจ อย่างหนึ่ง

บุญ เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คือเป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์สุขให้แก่สัตว์ทั้งปวง ทั้งเมื่อยังดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทั้งในภพต่อ ๆ ไปที่ไปเกิด

การทำบุญนั้น บุคคลพึงกระทำบ่อย ๆ และทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมีความสามารถทำได้ เพราะบุญนี้เป็นเครื่องอำนวยศุภผลให้ดังกล่าวแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง บุญก็เหมือนทรัพย์สมบัติทั่วไปที่สามารถหมดสิ้นไปได้ บุคคลทั้งหลายประสบความสุขความเจริญในโลกนี้ด้วยอาศัยบุญเก่าคอยอำนวยให้ เมื่อบุญเก่าค่อย ๆ หมดลง เหตุแห่งความสุขความเจริญก็ย่อมค่อย ๆ หมดไปด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นที่บุคคลจะต้องหมั่นทำบุญใหม่เพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่นเดียวกับทรัพย์สินเงินทองภายนอกที่ใช้หมดไปต้องหาใหม่มาทดแทนอยู่เสมอนั่นเอง

อนึ่ง เมื่อบุคคลทำบุญ ควรทำความพอใจในบุญนั้น คือทำบุญด้วยความยินดี ตั้งใจทำด้วยตนเอง มีความคิดริเริ่มในการทำบุญด้วยตนเอง ไม่ใช่คอยให้คนอื่นมาบังคับหรือบอกให้ทำ หรือทำแบบไม่เต็มใจ เพราะบุญที่ทำด้วยความไม่เต็มใจหรือไม่ยินดี ย่อมให้ผลไม่เต็มที่เช่นกัน ตรงกันข้าม บุญที่ทำด้วยความยินดีพอใจ ย่อมอำนวยศุภผลให้ได้อย่างเต็มกำลัง

ด้วยความที่บุญเป็นเหตุอำนวยประโยชน์สุขให้ดังกล่าวแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า “การสั่งสมบุญนำสุขมาให้” คือยิ่งทำบุญมากเท่าไหร่ ประโยชน์สุขที่จะเกิดจากบุญย่อมมากเท่านั้น ดังนั้น บุคคลพึงยินดีพอใจในการทำบุญ ทำบ่อย ๆ และทำมาก ๆ เท่าที่จะสามารถทำได้.